วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

13.หลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

หลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
  • รัฐธรรมนูญได้บัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ

    • 1. สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมานการทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ ยกเว้นการลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม การจับกุมคุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
    • 2. สิทธิในครอบครัว ความเป็นส่วนตัว สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การเผยแพร่ข้อความหรือภาพไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือการกระทบสิทธิดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
    • 3.  เสรีภาพในเคหสถาน  บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัย และครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยที่ผู้ครอบครองไม่ยินยอม และการตรวจค้นเคหสถาน จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
    • 4. เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง และมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร การกำจัดเสรีภาพดังกล่าวจะทำมิได้ เว้นแต่โดยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน
    • 5. เสรีภาพในการสื่อสาร  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจ กัก เปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลที่ติดต่อกันถึงรวมทั้งการกระทำใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในการสื่อสารนั้น ๆ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    • 6. เสรีภาพในการนับถือศาสนา  บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    • 7. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์  การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
    • 8. เสรีภาพทางวิชาการ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย การเผยแพร่การวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครองเท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
    • 9. สิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรักการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น