วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

22.การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

22.การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
  • การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย หมายถึง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสำคัญของสมาชิกในสังคมไทย ซึ่งมี 3 ด้าน คือ ด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ ของสังคมไทยมีดังนี้
    • 1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครอง มีการปกครองในแบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัยตอนต้น โดยพระมหากษัตริย์มีความใกล้ชิดกับประชาชน และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองมาเป็นการปกครองแบบธรรมราชา ในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ซึ่งความสำคัญของพระมหากษัตริย์กับประชาชนห่างเหินกันมากขึ้น และมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเทวราชา ที่ยกย่องให้พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ เป็นรูปแบบการปกครองที่ใช้จนถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการประกาศยกเลิกโดยมีการปกครองแบบมณฑลแทนการจัดหัวเมือง ยกเลิกจตุสดมภ์ และตั้งกระทรวงต่าง ๆ เข้ามาทำหน้าที่แทน รวมถึงการตั้งสภาเพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมาถึงยุคสมัยของรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 24  มิถุนายน  พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยน แปลง ทางด้านการเมืองการปกครองที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย

    • 2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ  คนไทยจากอดีตถึงปัจจุบันยึดอาชีพในการทำการเกษตรตลอดมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จะเป็นเศรษฐกิจเพื่อยังชีพ ซึ่งการผลิตสินค้าด้านต่าง ๆ  จะใช้เพื่อบริโภคภายในครอบครัว หรือชุมชนของตัวเองเป็นสำคัญ การค้าขายยังไม่แพร่หลาย เป็นการค้าขายกับจีนเป็นสำคัญ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไทยได้ทำสัญญาเบาว์ริ่งกับประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากเศรษฐกิจเพื่อยังชีพมาเป็นเศรษฐกิจเพื่อการค้า สมัยของรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์  ในปี พ.ศ.2504 ได้มีการประกาศให้ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกและใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

    • 3. การเปลี่ยนปลงทางด้านสังคมวัฒนธรรมของไทย สังคมวัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิผลมาจากพระพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากอินเดียและจีนเป็นส่วนใหญ่ สมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการแบ่งแยกชนชั้นของคนในสังคม โดยใช้ศักดินาเป็นเครื่องมือแบ่งคนในสังคมออกเป็น 4ชนชั้น คือ ชนชั้นเจ้านาย ขุนนาง ไพร่ ทาส และใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์ได้ทรงประกาศเลิกไพร่และทาส ทำให้ไม่มีชนชั้นในสังคมอีกต่อไป คนไทยจึงมีสิทธิเท่าเทียมกันจนถึงปัจจุบันและสังคมไทยได้รับเอาวัฒนธรรมของชาติตะวันตกมาเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น การแต่งกาย ความนิยมในด้านวัตถุต่างๆ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น