วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

3.การจัดระเบียบของสังคม

3.การจัดระเบียบของสังคม

  • การจัดระเบียบสังคม หมายถึง กระบวนการที่ควบคุมสมาชิกในสังคมหนึ่งๆ เพื่อให้ทุกคนได้ปฏิบัติในแนวเดียวกัน การจัดระเบียบสังคมนี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคม ทำให้แต่ละสังคมมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ประวัติศาสตร์ สภาพภูมิศาสตร์ และบรรทัดฐานของสังคมนั้นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างองค์ประกอบของการจัดระเบียบสังคม คุณลักษณะขององค์ประกอบของการจัดระเบียบสังคมสรุปได้ 3 อย่างคือ


  • 1. สถานภาพทางสังคม หมายถึง ตำแหน่งที่บุคคลดำรงชีวิตอยู่ในสังคม หรือเป็นฐานะทางสังคมของบุคคลในชีวิตทางสังคม เป็นตำแหน่งที่บุคคลได้รับจากการเป็นสมาชิก ทุกคนในสังคมย่อมมีสถานภาพตั้งแต่กลุ่มสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว จนกระทั่งกลุ่มสังคมที่ใหญ่ที่สุด คือประเทศชาติ สถานภาพนั้นมี 2 ประเภท คือ
    • 1.1 สถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิด เช่น เพศ ชาติตระกูล เชื้อชาติ และเงื่อนไขทางเครือญาติ เป็นต้น
    • 1.2 สถานภาพที่ได้รับมาภายหลัง ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ 
      • สถานภาพที่ได้มาด้วยความสามารถ เป็นสถานภาพที่เฉพาะตัว เช่น นักกีฬา นักเรียน 
      • สถานภาพที่ได้มาด้วยเงื่อนไขทางเครือญาติ เช่น ปู่ ตา พี่ ป้า ฯลฯ เป็นต้น
  • 2. บทบาททางสังคม หมายถึง สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบที่บุคคลพึงปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานภาพของตน
    • 1. สถานภาพและบทบาทเป็นตัวกำกับซึ่งกันและกัน หากสมาชิกในสังคมใดสามารถแสดงบทบาททางสังคมได้เหมาะกับสถานภาพก็ย่อมมีผลทำให้สังคมเป็นระเบียบเจริญก้าวหน้าและสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างปกติ เช่น มีสถานภาพเป็นตำรวจก็แสดงบทบาทในการพิทักษ์สันติราษฎร์อย่างเข้มแข็งโดยไม่มีการทุจริตก็อาจทำให้สังคมสงบสุข เป็นต้น
    • 2. บทบาทขัดกัน สมาชิกต้องอยู่ร่วมกันในกลุ่มสังคมหลายกลุ่ม จึงทำให้แต่ละบุคคลต้องมีหลายสถานภาพ และหลายบทบาท บางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาบทบาทที่ขัดแย้งกันแต่ละคนมีบทบาทหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และการกระทำในบทบาทหนึ่งอาจจะขัดกับอีกบทบาทหนึ่งได้ เช่น สามีเป็นตำรวจที่มีหน้าที่ปราบปรามการทำผิด แต่ภรรยาเป็นนักเล่นการพนัน ในฐานะสามีต้องดูแลภรรยาให้ดีที่สุด แต่ในฐานเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจับกุมภรรยาผู้กระทำการผิดกฎหมายจึงทำให้เกิดความอึดอัดใจ เป็นปัญหาที่เกิดจากบทบาทขัดกัน และการขัดกันในบทบาทเกิดขึ้นได้เสมอ สมาชิกในสังคมต้องตัดสินใจตามวาระและโอกาสที่เกิดขึ้น
  • 3. บรรทัดฐานทางสังคม เป็นมาตรฐานความประพฤติที่มนุษย์ในสังคมกำหนดไว้ เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกของสังคมเพื่อประพฤติปฏิบัติในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้นหากสมาชิกในสังคมไม่ประพฤติปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนย่อมมีความผิดถูกลงโทษซึ่งมาตรการในการลงโทษอาจจะรุนแรงมากน้อยต่างกันตามประเภทของบรรทัดฐาน
    • 1. วิถีประชา เป็นมาตรฐานความประพฤติที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความดีความชั่ว แต่เป็นแนวทางที่สมาชิกของสังคมนิยมปฏิบัติกันมาจนเป็นประเพณี เป็นความเคยชินเนื่องจากได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดมาตั้งแต่เด็กจนโต เช่น มารยาทในสังคมต่างๆ รวมถึงวิถีในการดำเนินชีวิตซึ่งผู้ที่ล่วงละเมิด จะได้ รับการลงโทษด้วยการติเตียน เยาะเย้ย ถากถาง นินทาจากคนในสังคม
    • 2. กฎศีลธรรมหรือจารีต เป็นมาตรฐานความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความดีและความชั่ว ความมีคุณธรรมทางจิตใจ เช่น ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู สังคมมักเข้มงวดหรือเคร่งครัดกับผู้ละเมิดหรือผู้ไม่ปฏิบัติตามเพราะส่งผลกระทบต่อสมาชิกโดยส่วนรวม มาตรการในการลงโทษรุนแรงกว่าวิถีประชา เช่น การไม่คบหาสมาคมด้วย การนินทา การประจาน หรือการขับไล่ออกจากกลุ่ม ตัวอย่างการกระทำผิดจารีต เช่น การที่ผู้หญิงที่มีสามีแล้วแอบลักลอบมีชู้ เป็นต้น
    • 3. กฎหมาย เป็นมาตรฐานความประพฤติที่รัฐบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของสมาชิกในสังคมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการลงโทษอย่างเป็นทางการ มีหน่วยงานควบคุมอย่างชัดเจนและผู้ที่ฝ่าฝืนจะได้รับการลงโทษรุนแรงมากหรือน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับความผิด ซึ่งกฎหมายจะมีพื้นฐานมาจากจารีตประเพณีของประเทศนั้นเป็นสำคัญ ทั้งวิถีประชาและกฎศีลธรรม ไม่มีบทลงโทษที่ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เรียกได้ว่าเป็นการลงโทษทางสังคมหรือการลงโทษอย่างไม่เป็นทางการก็ได้ แต่กฎหมายเป็นการลงโทษอย่างเป็นทางการหรือทางนิตินัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น