วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไสลน์ ม.4 หน่วยที่ 4



สิทธิมนุษยชน

ความหมายของสิทธิมนุษยชน
  • สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายถึง สิทธิของความเป็นมนุษย์ ในอดีตยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนภายหลังที่ได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติแล้ว คำว่า สิทธิมนุษยชน จึงได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในกฎบัตรสหประชาชาติได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้หลายแห่ง เช่นในอารัมภบท ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของสหประชาชาติไว้ว่า “เพื่อเป็นการยืนยันและให้การรับรองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษยชาติ"
ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
  • ในยุคโบราณซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทุกหนแห่งมีความไม่เสมอภาคกัน มนุษย์ถูกแบ่งเป็นชนชั้น ชนชั้นล่างจะถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับสิ่งของ สิทธิถูกสงวนไว้สำหรับขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นสูงเท่านั้น
  • ต่อมามนุษย์เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง มีเหตุมีผลมากขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดใหม่ๆว่า สิทธิซึ่งแต่เดิมเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะมีได้ สมควรที่จะมอบให้กับประชาชนทุกคน ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดที่ว่า
  • “สิทธิ คือ อำนาจหรือประโยชน์ที่บุคคลพึงมีพึงได้ มีกฎหมายรับรองไว้ และสิทธิจะได้มาตั้งแต่กำเนิดไม่มีใครสามารถพรากเอาไปได้”
  • สิทธิที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ “สิทธิมนุษยชน” มีเนื้อหาเน้นหนักไปที่เรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค รวมไปถึงเสรีภาพในด้านต่างๆ เป็นต้น สิทธิมนุษยชนนั้นประกอบไปด้วย
    • 1.สิทธิในชีวิตและร่างกาย เริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก
    • 2.สิทธิที่จะไม่ถูกกระทำทารุณกรรม คือ ไม่ถูกกระทำอย่างโหดร้าย ผิดมนุษย์
    • 3.สิทธิที่จะไม่ถูกกระทำเยี่ยงทาส คือ ไม่ถูกปฏิบัติเฉกเช่นสิ่งของ
    • 4.สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษ หรือถูกกล่าวหาด้วยกฎหมายย้อนหลัง
1.แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
  • 1.1 สิทธิมนุษยชนครอบคลุมถึงสิทธิของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา นับแต่ทารกแรกเกิดและมีชีวิต เด็กและเยาวชน สตรี ผู้ยากไร้ คนเร่ร่อน ผู้ใช้แรงงาน คนพิการ คนขอทาน เกษตรกร ผู้ป่วยรวมถึงคนป่วยโรคเอดส์ และคนฝากขัง
  • 1.2 สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของ
    • 1.2.1 ชีวิตทุกชีวิต
    • 1.2.2 สิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ
    • 1.2.3 ความเสมอภาค
    • 1.2.4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
    • 1.2.5 การคุ้มครองตาม
      • 1. รัฐบาล
      • 2. ปฏิญญาสากล
      • 3. กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ
      • 4. มารฐานสากล
  • 1.3 รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องศักดิ์ความเป็นมนุษย์ มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่อง สิทธิมนุษยชน อย่างแยกกันไม่ได้
2. หลักการสำคัญของ สิทธิมนุษยชน
  • 2.1 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิเฉพะของมนุษย์แต่ละคนที่ไม่สามารถโอนให้กันและกันได้
  • 2.2 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ และต้องพึ่งพิงกันและกัน
  • 2.3 สิทธิมนุษยชน เป็นวิถีทางที่นำไปสู่สันติภาพและพัฒนาที่ยั่งยืน
  • 2.4 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่บุคคลพึงมีในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
  • 2.5 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีความเท่าเทียมกันอย่างเป็นสากลและตลอดไป
ความเป็นมาและสาระสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 
  • ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการศึกษาวิชาสิทธิมนุษยชนเพราะปฏิญญานี้สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกๆเรื่องที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน
  • ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถือเป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคล ทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการรำลึกเสมอถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริม การเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ ด้วยมาตรการที่เจริญก้าวไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้น อย่างเป็นสากลและได้ผล ทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และในหมู่ของประชาชนแห่งดินแดน ที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิก
  • ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่อง สิทธิมนุษยชน สรุปได้ 3 ประการ คือ
    • ประการที่ 1 ว่าด้วย สิทธิในชีวิตถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชรา ฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรปฏิบัติต่อบุคคลด้อยโอกาส ให้ความสำคัญ ให้โอกาสและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เพื่อให้ทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด อันได้แก่ข้อ  1, 2, 3, 4 , 5 ,12,13 , 14,15,16,25,
    • ประการที่ 2 ว่าด้วยสิทธิในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง คนในสังคมต้องให้โอกาสกับคนที่เคยกระทำไม่ถูกต้อง ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้รับการอบรมแก้ไขและพัฒนาตนเองใหม่ ให้สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น อันได้แก่ข้อ 8,9,17,18  , 19, 20, 24, 26, 10, 11
    • ประการที่ 3 ว่าด้วยสิทธิในการยอมรับนับถือ หมายถึง การที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกันด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตด้วยความเท่าเทียมกัน อันได้แก่ข้อ 6,7,21,22 ,23 ,27,28,29
ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมี 30 ข้อ ดังนี้
  • ข้อ 1มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ
  • ข้อ 2 ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด
  • ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล
  • ข้อ 4 บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาส หรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ ห้ามความเป็นทาส และการค้าทาสทุกรูปแบบ
  • ข้อ 5 บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้
  • ข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย
  • ข้อ 7 ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว
  • ข้อ 8 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอันมีประสิทธิผลจากศาลที่มีอำนาจแห่งรัฐ ต่อการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
  • ข้อ 9 บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
  • ข้อ 10 ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียง ในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน
  • ข้อ 11
    • (1) ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามี ความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี
    • (2) บุคคลใดจะถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาใด อันเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นใด อันมิได้ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่ได้กระทำการนั้นไม่ได้ และจะกำหนดโทษที่หนักกว่าที่บังคับใช้ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาญานั้นไม่ได้
  • ข้อ 12 บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบ หลู่ดังกล่าวนั้น
  • ข้อ 13
    • (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ
    • (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใด รวมทั้งประเทศของตนเอง และสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน
  • ข้อ 14
    • (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้ที่ลี้ภัยในประเทศอื่นจากการประหัตประหาร
    • (2) สิทธินี้จะยกขึ้นกล่าวอ้างกับกรณีที่การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นโดยแท้ จากความผิดที่มิใช่ทางการเมืองหรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้
  • ข้อ 15
    • (1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง
    • (2) บุคคลใดจะถูกเพิกถอนสัญชาติของตนตามอำเภอใจ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติ
  • ข้อ 16
    • (1) บรรดาชายและหญิงที่มีอายุครบบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและก่อร่างสร้างครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส
    • (2) การสมรสจะกระทำโดยความยินยอมอย่างอิสระและเต็มที่ของผู้ที่จะเป็นคู่สมรสเท่านั้น
    • (3) ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคม และย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ
  • ข้อ 17
    • (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเอง และโดยร่วมกับผู้อื่น
    • (2) บุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจไม่ได้
  • ข้อ 18 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อถือของตนในการสอน การปฏิบัติ การสักการบูชา และการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล
  • ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน
  • ข้อ 20
    • (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ
    • (2) บุคคลใดไม่อาจถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งได้
  • ข้อ 21
    • (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตน โดยตรงหรือผ่านผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยอิสระ
    • (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศตนโดยเสมอภาค
    • (3) เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นการออกเสียงอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และต้องเป็นการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระในทำนองเดียวกัน
  • ข้อ 22 ทุกคน ในฐานะสมาชิกของสังคม มีสิทธิในหลักประกันทางสังคม และย่อมมีสิทธิในการบรรลุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันจำเป็นยิ่งสำหรับศักดิ์ศรีของตน และการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ผ่านความพยายามของรัฐและความร่วมมือระหว่างประเทศ และตามการจัดการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ
  • ข้อ 23
    • (1) ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน
    • (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน สำหรับงานที่เท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด
    • (3) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการ ประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย
    • (4) ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้งและที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อความคุ้มครองผลประโยชน์ของตน
  • ข้อ 24 ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาทำงานตามสมควร และวันหยุดเป็นครั้งคราวโดยได้รับค่าจ้าง
  • ข้อ 25
    • (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตน และของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน
    • (2) มารดาและเด็กย่อมมีสิทธิที่จะรับการดูแลรักษาและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
  • ข้อ 26
    • (1) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้น ฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม
    • (2) การศึกษาจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และการเสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษาจะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรม และมิตรภาพระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือศาสนาทั้งมวล และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติ เพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
    • (3) ผู้ปกครองมีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกประเภทการศึกษาที่จะให้แก่บุตรของตน
  • ข้อ 27
    • (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะ และมีส่วนในความรุดหน้า และคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์
    • (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางจิตใจและทางวัตถุ อันเป็นผลจาก ประดิษฐกรรมใดทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปกรรมซึ่งตนเป็นผู้สร้าง
  • ข้อ 28 ทุกคนย่อมมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นกรอบให้บรรลุสิทธิและอิสรภาพที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้อย่างเต็มที่
  • ข้อ 29
    • (1) ทุกคนมีหน้าที่ต่อชุมชน ซึ่งการพัฒนาบุคลิกภาพของตนโดยอิสระและเต็มที่ จะกระทำได้ก็แต่ในชุมชนเท่านั้น
    • (2) ในการใช้สิทธิและอิสรภาพของตน ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด เพียงเท่าที่มีกำหนดไว้ตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อวัตถุประสงค์ของการได้มาซึ่งการยอมรับและการเคารพสิทธิและอิสรภาพอัน ควรของผู้อื่น และเพื่อให้สอดรับกับความต้องการอันสมควรทางด้านศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย
    • (3) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ไม่อาจใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์ และหลักการของสหประชาชาติไม่ว่าในกรณีใด
  • ข้อ 30 ไม่มีบทใดในปฏิญญานี้ ที่อาจตีความได้ว่า เป็นการให้สิทธิใดแก่รัฐ กลุ่มคน หรือบุคคลใด ในการดำเนินกิจกรรมใด หรือกระทำการใด อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพใดที่กำหนดไว้ ณ ที่นี้
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีบทบัญญัติบังคับไว้ในส่วนที่ ๘ ที่ว่าด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในมาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๒๐๐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
  • มาตรา ๑๙๙ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วยให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา การคัดเลือก การถอดถอน และการกำหนด ค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
  • มาตรา ๒๐๐ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
    • (๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
    • (๒) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
    • (๓) ส่งเสริมการพัฒนา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
    • (๔) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
    • (๕) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
    • (๖) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจาก บุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๓๔ (๑) กำหนดบังคับไว้ให้ออกกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายมารองรับ เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
    • (๑) มาตรา ๓ ให้คำจำกัดความว่า สิทธิมนุษยชน หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
      • ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคนเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือแนวคิดอื่น ๆ เผ่าพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ เช่น คนเราทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๖)คนเราทุกคนเกิดมามีอิสสระเสรี มีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑)
  • รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรอง กำชับ และเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย อย่างชัดเจน ได้แก่
    • (๒) มาตรา ๔ บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
    • (๓) มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ
    • (๔) มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
สิทธิมนุษยชนกับทหาร
  • ทหารจำเป็นต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าระงับการชุมนุมระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ รับทราบรายงานของคณะกรรมการกลั่นกรองรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นชอบตามข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการ ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม คือ  ข้อ ๓ รับไปดำเนินการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการแสดงออกอย่างเสรีในหลักสูตรการศึกษาทุกแขนง โดยเฉพาะการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในหลักสูตรวิชาทางทหาร ตำรวจ และนักปกครองระดับต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
  • พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิ- มนุษยชนแห่งชาติคณะหนึ่ง จำนวน ๑๑ คน มีประธานคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีก ๑๐ คน มีคุณสมบัติดังนี้
  • มาตรา ๖ ประธานคณะกรรมการ
    • ๑. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
    • ๒. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
    • ๓. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • ๔. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
    • ๕. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
    • ๖. ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
    • ๗. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
    • ๘. ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
    • ๙. ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
    • ๑๐. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
    • ๑๑. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
    • ๑๒. ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบ-ปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
    • ๑๓. ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
  • มาตรา ๗ ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้อง
    • (๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
    • (๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
    • (๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
  • เมื่อวุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยได้รับความ ยินยอมของผู้นั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการใหม่แทน เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ ?โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย (ม.๕) โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว (ม.๑๐ ว.๑)
การดำเนินงานของคณะกรรมการ
  • ๑. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขกรณีที่มีการกระทำ หรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดี อยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว (ม.๒๒)
  • ๒. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการโดยผู้นั้นเอง หรือผู้ทำการแทน แจ้งการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยการร้องเรียนด้วยวาจาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กระทำได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ม.๒๓)
  • ๓. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องต่อองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อองค์การเอกชนพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลก็อาจเสนอเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป (ม.๒๔)
  • ๔. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้เหมือนคดีทั่วไป ตามแต่สิทธิที่ถูกลิดรอน เช่น ทางร่างกายก็ฟ้องต่อศาลอาญา ทางลิขสิทธิ์ก็นำคดีสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เป็นต้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้ละเมิด เพียงแต่แจ้งให้ผู้กระทำละเมิดได้ทราบว่าสิ่งที่กระทำนั้นละเมิดต่อผู้อื่น
  • รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน และยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเท่าไร เพศใด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาและภาษาอะไร มีสถานภาพทางกายหรือฐานะใด หากบุคคลอยู่ในพื้นที่ที่ใช้รัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตลอดจนการตรากฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายอาจมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หากถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ดำเนินคดีได้
บทบาทขององค์การระหว่างประเทศในเวทีโลกที่มีผลต่อประเทศไทย
  • องค์กรระหว่างประเทศในโลกนี้มีมากมาย และหลายประเภทมากแต่ก่อนอื่นที่เราจะมาดูว่าองค์กรเหล่านี้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนั้นเราต้องมาดูก่อนว่า องค์กร ระหว่างประเทศนั้นคืออะไร องค์การระหว่างประเทศ (International Organizations) หมายถึง โครงสร้างหรือสถาบันที่เป็นทางการ (formal) ถูกสร้างขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างรัฐหรือไม่ใช่รัฐก็ได้ เพื่อบรรลุจุดประสงค์และผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งองค์การระหว่างประเทศจะตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างสอง "รัฐ"ขั้นไป
  • หน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศก็คือ
    • จัดประชุมปรึกษาหารือระหว่าง "รัฐ"
    • วางกฎเกณฑ์ต่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง "รัฐ"
    • จัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation)
    • เสนอการใช้วิธีป้องกันร่วมกัน (Collective Defence)
    • เสนอการใช้วิธีปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peace - Keeping)
    • ส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้านในด้านต่างๆ
  • สหประชาชาติ (UN) หรือ องค์การสหประชาชาติ (UNO) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดร่วมมือกันของกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก 
  • สหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ ในการยับยั้งสงครามระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท 
  • สหประชาชาติมีองค์การย่อย ๆ จำนวนมากเพื่อดำเนินการตามภารกิจสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ ครอบคลุมรัฐอธิปไตยเกือบทุกรัฐบนโลก 
  • มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก ได้แก่: สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 
  • นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มักเป็นที่รู้จักและปรากฏตัวต่อสาธารณชน คือ เลขาธิการสหประชาชาติ 
  • ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้ คือ นายบัน คี มุน ชาวเกาหลีใต้ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2007 ต่อจากโคฟี อันนัน  
  • ภารกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมความพยายามในการกำกับดูแลสิทธิมนุษยชนถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อตั้งสหประชาชาติ ความร้ายกาจจากสงครามโลกครั้งที่สอง 
  • และพันธุฆาตได้นำไปสู่การเตรียมการองค์การใหม่ขึ้นเพื่อทำงานป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกในอนาคต 
  • เป้าหมายในระยะแรก คือ ความพยายามสร้างโครงร่างสำหรับพิจารณาและการลงมือช่วยเหลือตามคำร้องที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 
  • กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องมีการส่งเสริม "ความเคารพและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน" และจะต้องสนับสนุนต่อ "การลงมือปฏิบัติร่วมและแยกกัน" จนถึงที่สุด 
  • โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะมิได้เป็นข้อผูกมัดทางกฎหมาย ได้ถูกร่างขึ้นโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1948 โดยถือเอาเป็นมาตรฐานการวัดความสำเร็จโดยทั่วไป 
  • โดยปกติแล้ว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะรับฟังประเด็นทางมนุษยธรรมเสมอ สหประชาชาติและหน่วยงานสนับสนุนเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและเพิ่มพูนตามหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 
  • ในกรณีจุดที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติในการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการจัดการเลือกตั้งปราศจากค่าใช้จ่ายและยุติธรรม การปรับปรุงระบบยุติธรรม การร่างรัฐธรรมนูญ การฝึกหัดเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน และการเปลี่ยนแปลงเอาขบวนการติดอาวุธเป็นพรรคการเมืองแทน 
  • โดยได้รับความสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงโลกให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย สหประชาชาติได้มีส่วนช่วยจัดการเลือกตั้งให้แก่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไม่นานนัก อย่างเช่น อัฟกานิสถานและติมอร์ตะวันออกในปัจจุบัน 
  • สหประชาชาติยังมีส่วนสำคัญในการรณรงค์สนับสนุนสิทธิสตรีในด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ และชีวิตทางสังคมในประเทศ 
  • นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ปลูกฝังแนวคิดสิทธิมนุษยชนผ่านทางกติการของสหประชาชาติ และให้ความสนใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านทางสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 
  • ในปี ค.ศ. 2006 ได้มีการจัดตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อที่ประชุม 
  • โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ต่อจากผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมักจะได้รับคำวิจารณ์สำหรับตำแหน่งในการบีบรัฐสมาชิกที่ไม่ค่อยให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน 
  • คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมีสมาชิก 47 ประเทศกระจายกันไปตามทุกทวีปในโลก โดยมีวาระสมาชิกสามปี และไม่เป็นสมาชิกสามวาระติดต่อกัน 
  • ผู้ที่เสนอตัวเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับเสียงส่วนใหญ่จากสมัชชาใหญ่ นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยังมีอำนาจอย่างเข้มงวด เหนือรัฐสมาชิก รวมไปถึงการทบทวนสิทธิมนุษยชนสากล 
  • ขณะที่รัฐสมาชิกบางประเทศที่มีข้อกังขาถึงประวัติสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ เมื่อถูกเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ก็จะเพิ่มความสนใจให้แก่ประวัติสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกให้มากขึ้นกว่าที่เคย 
  • นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ให้ความสนใจแก่ชาวพื้นเมืองจำนวนกว่า 370 ล้านคนทั่วโลก โดยในปฏิญญาสิทธิชนพื้นเมืองได้รับรองจากสมัชชาใหญ่ในปี ค.ศ. 2007 
  • ปฏิญญาดังกล่าวสรุปเน้นถึงความเป็นเอกเทศและการรวมกันของสิทธิทางวัฒนธรรม ภาษา การศึกษา รูปพรรณ การจ้างงานและสุขภาพ 
  • ด้วยเหตุนั้น จึงมีประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังยุคอาณานิคม ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ 
  • ปฏิญญาสิทธิชนพื้นเมืองมีเป้าหมายเพื่อที่จะธำรงรักษา สร้างความแข็งแกร่งและสนับสนุนการเจริญเติบโตของสถาบันชนพื้นเมือง วัฒนธรรมและประเพณี และยังมีการห้ามลำเอียงในการต่อต้านชนพื้นเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมือง ซึ่งต้องคำนึงถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคต ในความร่วมมือกับองค์กรอื่น อย่างเช่น กาชาด สหประชาชาติได้ให้การสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัยและบริการให้แก่อาณาประชาราษฎร์ที่ได้รับผลกระทบจะภัยพิบัติ สูญเสียที่อยู่อาศัยจากภัยสงคราม หรือได้รับผลกระทบจากมหันตภัยอื่น โครงการเพื่อมนุษยธรรมหลักของสหประชาชาติ คือ โครงการอาหารโลก ซึ่งได้ช่วยชีวิตมนุษย์กว่า 100 ล้านคนใน 80 ประเทศทั่วโลก) รวมไปถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ใน 116 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึง ประเทศที่มีภารกิจรักษาสันติภาพ 24 ประเทศ
  • ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเกิดกรณีปัญหากัมพูชา ประเทศไทยได้มีบทบาทนำอย่างแข็งขันร่วมกับอาเซียนในการแก้ไขปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านโดยดำเนินการผ่านเวทีสหประชาชาติ ต่อมาหลังจากสหประชาชาติได้ปรับบทบาทให้สอดคล้องกับบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากการยุติของสงครามเย็น ประเทศไทยได้เพิ่มบทบาทในด้านการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าสหประชาชาติเป็นเสมือนตัวแทนประชาคมโลก ดังนั้นการให้สหประชาชาติดูแลรักษาสันติภาพและความมั่นคงจึงเป็นประโยชน์แก่ประเทศที่มีกำลังทางทหารขนาดเล็กอย่างไทยมากกว่าที่จะให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้กำลังฝ่ายเดียวเพื่อยุติข้อขัดแย้ง นอกจากนี้ ในฐานะประเทศสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติไทยได้พยายามให้การสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติเท่าที่สถานภาพและกำลังทรัพย์จะเอื้ออำนวยประเทศไทยได้มีบทบาทในด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น ดังนี้
    • 1. ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพฯ บริเวณชายแดนอิรัก-คูเวต (United Nations Iraq-Kuwait Observer Mission: UNIKOM) ปีละ 5 นาย ตั้งแต่ปี 2534-ปัจจุบัน
    • 2. ส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังรักษาความปลอดภัยในอิรัก (United Nations Guards Contingent in Iraq :UNGCI) ในปี 2535 จำนวน 2 ผลัด ๆ ละ 50 นาย
    • 3. ส่งทหารหนึ่งกองพันเข้าร่วมองค์กรบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (United Nations Transitional Authority in Cambodia: UNTAC) ปี 2534-2535
    • 4. ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา (United Nations Mission in Bosnia-Herzegovina: UNMIBH) ปีละ 5 นาย ตั้งแต่ปี 2540 – ปัจจุบัน
    • 5. ส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก ปี 2542- ปัจจุบัน
    • 6. ส่งนายทหารสังเกตการณ์ 5 นายเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในเซียร์ราลีโอน(United Nations Mission in Siera Leon: UNAMSIL) ตั้งแต่ต้นปี 2543
ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา
  • สถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในประเทศไทย
  • การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในสังคมไทยมีปรากฏการณ์ในหลายรูปแบบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษและยังคงดำรงสืบเนื่องในสังคมไทย และมีแนวโน้มขยายความรุนแรงกว้างขวางขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนต่างๆ
  • ข้อมูลของกรมประชาสงเคราะห์ ปี 2545 พบว่าเด็กที่อยู่ในอายุ 1–14 ปี ประมาณ 6 ล้านคนอยู่ในครอบครัวที่ยากจน เด็กถูกทอดทิ้งมีจำนวนมากกว่าแสนคน เด็กกำพร้ามีจำนวนประมาณ 350,000 คน เด็กเร่ร่อน มีประมาณ 370,000 คน เด็กพิการทางกาย หรือทางจิตกว่า 400,000 คน เด็กชนเผ่าที่เป็นกลุ่มคนชายขอบกว่า 200,000 คนและจากรายงานของสถาบันสวัสดิการและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเด็กให้ข้อมูลเรื่องภาวะยากลำบากที่เกิดกับเด็กบางประเภท ในปี 2545 ซึ่งเก็บรวบรวมจากการเก็บข้อมูลในจังหวัดพิษณุโลก น่าน เลย อุตรดิตถ์  และลำพูน จำนวน 6,417 คน จาก 68 โรงเรียน และวัด สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ( ซึ่งสภาพปัญหาที่เด็กเผชิญและประสบอยู่ สะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของเด็กและเยาชนตามหลักกฎหมายสากลของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  )
    • 1.   เด็กถูกทอดทิ้งในประเทศไทยวันละ 8 คน โดยเฉพาะเด็กที่ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กที่ถูกทอดทิ้ง 3 ใน 5 คน จะถูกอดทิ้งหลังคลอด เด็กที่ถูกทอดทิ้ง จำนวน 4 ใน 5 คน จะถูกทอดทิ้งหลังคลอด แม่ตั้งครรภ์นอกสมรส และต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง  แม่ของเด็กถูกทอดทิ้ง 1 ใน 10 คน แยกทางกับสามี ถูกข่มขืน หรือตั้งครรภ์กับคนในครอบครัว เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักจะมีพัฒนาการช้ากว่าวัย
    • 2.   เด็กและเยาวชนที่ถูกทารุณเป็นเหยื่อของความขัดแย้งของครอบครัวและสังคม เด็ก 1 ใน 4 คนถูกทุบตีในบ้าน เท่าที่พบเด็กถูกทารุณอายุน้อยที่สุด 24 วัน ผู้กระทำในครอบครัวจะเคยพบเห็นและยอมรับการกระทำทารุณว่า ตนเองจะตบตีภรรยาหากกระทำตัวไม่ดี ส่วนเด็กที่ถูกกระทำทางเพศมีแนวโน้มอายุน้อยลง และผู้กระทำก็มีอายุน้อยลงน้อย ยังมีการละเลยไม่ช่วยเหลือเด็กจากสังคมเมื่อพบเห็นเด็กที่ถูกกระทำทารุณ
    • 3.   เด็กเร่ร่อน มีทั้งที่เร่ร่อนตามครอบครัวมาหางานทำในเมือง หรือเร่ร่อนตามลำพัง เฉพาะในเมืองใหญ่อาจมีถึงหมื่นคน  เป็นชายมากกว่าหญิง เด็กเร่ร่อนจำนวน 1 ใน 6 จะเร่ร่อนถาวรเป็นขอทาน  กินอยู่หลับนอนตามใต้สะพาน ตลาด วัด ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ  สาเหตุที่เร่ร่อนเพราะหนีออกจากบ้านเพื่อนชวนมาเที่ยว  พลัดหลง ขอทานหรือขายของตามสี่แยก ทั้งที่ทำงานด้วยตัวเองหรือเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่
    • 4. เด็กลูกกรรมกรมีจำนวนไม่แน่ชัด ส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษาเมื่อจบชั้นประถมไม่มีโอกาสให้เรียนต่อ เด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่ในบริเวณก่อสร้าง เมื่อโตพอ ช่วยตัวเองได้ มักถูกส่งไปอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างมักได้รับบาดเจ็บเนื่องจากตะปูตำ ไม้ตกใส่ ถูกเหล็กกับค้อนทุบมือ แก้วบาด และมักเรียนรู้เรื่องเพศตั้งแต่อายุยังน้อย
    • 5. เด็กในชุมชนแออัดในกรุงเทพ มีเกือบ 8 หมื่นคน มักมีปัญหาสุขภาพ ขาดสารอาหาร เป็นโรคผิวหนังสกปรก มอมแมม ทารก 7 ใน 10 คน ไม่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด
    • 6 .มีเด็กติดเอดส์จากแม่ในปัจจุบันประมาณ 6 หมื่นคน ทั้งยังจะต้องกำพร้าเนื่องจาก พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์อีกเป็น แสนคน คาดว่าถึงปี 2548 จะมีเด็กติดเชื้อเอดส์ประมาณ – แสนกว่าคน หรือประมาณปีละ 5-6 พันคน รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่นที่ติดเชื้อโดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มร่วมกันในการใช้ยาเสพติด
การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับเด็กและเยาวชน
  • การละเมิดสิทธิด้านเด็ก เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็ก และเยาวชนประเภทต่างๆ แตกต่างกันไปได้แก่
    • 1 .  การถูกละเมิด และอันเนื่องจากเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ที่จะได้รับการดูแล  การรักษา  ฟื้นฟูที่พึงได้อย่างเหมาะสม  หมายถึงเด็ก ที่มีความแตกต่างจากเด็กปกติ ซึ่งยังไม่ได้รับการบริการรวมทั้งแก้ไขถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ จากรัฐ  เช่น  การศึกษา สาธารณูปโภค  รวมทั้งไม่มีหลักประกันที่กลไก  และนโยบายต่างๆ และส่งผลในทางปฏิบัติจริง  เช่น เด็กพิการด้านต่าง ๆ เด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ เด็กปัญญาเลิศ เด็กกำพร้า เด็กที่บิดามารดาต้องโทษจำคุก เด็กยากจน ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เป็นต้น เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาดูจาการที่ครอบครัวหรือผู้ดูแลโดยลำพังไม่สามารถดูแลเด็กเหล่านี้ให้สอดคล้องกับสภาพของเด็กได้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรเอกชน
    • 2.    การละเมิด ทั้งทางร่างกาย  จิตใจ  จากการถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร เด็กอยู่ในภาวะเสี่ยง คือ เด็กที่มีสภาพแวดล้อมทางสังคมไม่ว่าที่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ที่มีความเสี่ยงจะถูกกระทำทารุณกรรม ถูกปล่อยละเลย หรือถูกทอดทิ้งในรูปแบบต่างๆซึ่งอาจจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางด้านสติปัญญา พัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ พัฒนาการด้านสังคม พัฒนาการด้านครอบครัว และอาจมีปัญหาพฤติกรรม
    • 3. เด็กถูกละเมิดจากการถูกกระทำ คือ เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยหรือถูกทอดทิ้ง ให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายรวมทั้งถูกทำร้ายทุบตี ทารุณ ถูกทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ หรือถูกล่วงเกินทางเพศจากบุคคลในสังคมแวดล้อมหรือแม้แต่บุคคลภายนอกนอกจากนี้ปัญหาการกระทำทารุณต่อแรงงานเด็ก อาจออกมาในรูปแบบการถูกใช้แรงงานหนัก เด็กถูกนายจ้างทุบตี  ทำร้าย  และข่มขืน  เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงมาตั้งแต่แรกแล้ว
    • 4 .  สิทธิอันพึงเข้าถึงและได้รับการบริการต่างๆ  ฟื้นฟู  และบำบัด เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม คือ เด็กที่มีพฤติกรรมผิดแผกแตกต่างไปจากเด็กปกติในวัยเดียวกันและมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืน ต่อต้าน กฎเกณฑ์ของสังคม ต่อต้านระเบียบธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันทางสังคมที่เด็กสังกัดอยู่ เช่น ครอบครัว โรงเรียน หรือ แม้แต่ชุมชน เป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเสียงมาตั้งแต่แรก
    • 5 .   การคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมต่อเด็กกระทำความผิด คือ เด็กที่กระทำความผิดทางอาญาและเป็นเด็กที่อาจมีปัญหาพฤติกรรมถูกปล่อยปละละเลยและอาจถูกทารุณกรรมมาก่อน ทั้งนี้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงมาตั้งแต่แรกเช่นเดียวกัน
  • สำหรับบทบาทและการดำเนินการเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิเด็กมีดังนี้ เช่นการพัฒนาทั้งการคุ้มครอง ป้องกัน การแก้ไขปัญหาทั้งโดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อเด็กเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาครอบครัวและการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมตลอดจนกระทั่งการรณรงค์ เผยแพร่ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการละเมิดสิทธิเด็ก อีกทั้งดำเนินการโดยใช้มาตรการทางกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม
  • จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดได้จากหลายสาเหตุและการถูกละเมิดก็มีหลายด้านที่ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆเหล่านั้นขาดอิสระและสิทธิต่างๆที่ควรจะได้รับ ถ้ามองว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร และคิดว่าสถาบันครอบครัวสำคัญที่สุด ซึ่งควรพร้อมก่อนมีลูก และต้องดูแลเอาใจใส่ลูกเสมอเช่น ยกตัวอย่าง เกี่ยวเด็กมาขายดอกไม้สังเกตไหมคะว่าหน้าตาค่อนข้างจะอินเดียหน่อย และก็รู้สึกว่าสงสารและเห็นใจแต่เราช่วยแล้วไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากการขายอย่างไร ถ้าขายไม่ได้วันนี้จะถูกทำร้ายร่างกายหรือเปล่าแต่ที่สำคัญคิดว่าจิตใจของเด็กเหล่านั้นคงมีแต่ความทุกข์ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ  ไม่ได้วิ่งเล่น  ยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงก็ยิ่งเป็นอันตราย บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าพ่อแม่เขาอยู่ไหน และหันมามองตัวเองก็รู้ว่าเราโชคดีกว่าเด็กพวกนั้นขนาดไหนที่มีบ้านครอบครัว มีการกินอยู่ที่ดี มีโอกาสเรียน แล้วเด็กพวกนั้นอายุแค่นี้ แล้วอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และอยากให้ทุกหน่วยงานให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้ให้มากเพราะเด็กๆคือเยาวชนของชาติ และครอบครัวคือสถาบันที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
อุปสรรคและการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
  • แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ร่วมรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และยังได้เข้าร่วมเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ แต่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควรอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรค เช่น ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หน่วยงานภาครัฐให้ความใส่ใจกับปัญหาสิทธิมนุษยชนน้อย เป็นต้น
  • ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทย ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาโดยตลอด เช่น การแบ่งชนชั้น การขดขี่แรงงาน ค่านิยมที่ให้ความสำคัญเพศชายมากกว่าเพศหญิง เป็นต้น จนทำให้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ไม่สามารถคลี่คลายลงไปได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสภาพปัญหาดูเหมือนจะรุนแรงน้อยลง แต่ในแง่ของการผลักดันกฎกติกาต่างๆ ระดับนโยบายยังไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่ ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังเกิดขึ้นให้เห็นมาโดยตลอด
  • เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนต่างๆ เหล่านี้ อาจจะคลี่คลายได้ในระดับหนึ่งด้วยการที่คนในสังคมต้องเรียนรู้ ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐให้มีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และสถาบันการศึกษาให้การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเยาวชนของชาติ ทั้งการเรียนรู้ในระบบ กรเรียนรู้ทั่วไป และการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะเมื่อประชาชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลได้เร็วยิ่งขึ้น
  • และที่สำคัญคือต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางส่วนนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ดังนั้น การศึกษาสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้องก็จะช่วยยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
ข้อตกลงระหว่างประเทศ


กฎหมายระหว่างประเทศ
  • กฎหมายระหว่าง ประเทศเป็นหลักกฎหมายหรือข้อตกลงร่วมกันที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ วิวัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเริ่มต้นตั้งแต่สมัยโบราณก่อนคริสต์กาล นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรวมตัวเป็นชุมชนสืบต่อมาในสมัยกลาง สมัยใหม่จนถึงสมัยปัจจุบัน โดยเริ่มจากการปฏิบัติต่อกันจนกลายเป็นจารีตประเพณี สนธิสัญญา และแนวคิดในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ
  • กฎหมายระหว่างประเทศหมายถึงกฎเกณฑ์ที่ ใช้บังคับในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนอกจากรัฐแล้วยังมีองค์การระหว่างประเทศอีกด้วย อีกทั้งยังมีเนื้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองปัจเจกคนภายในรัฐต่างๆ ด้วย
  • จากคำจำกัดความดังกล่าว ทำให้เข้าใจว่ากฎหมายระหว่างประเทศ ก็คือกฎหมายที่กำหนดขึ้นมา เพื่อให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการติดต่อสัมพันธ์กันเป็นไปตามกฎที่กำหนดหรืออยู่ในกรอบข้อตกลง ระหว่างกัน
  • รากฐานแห่งกฎหมายระหว่างประเทศคือความยินยอมร่วมกันของบรรดาประเทศต่างๆซึ่งมาจาก2ทางคือ
    • 1.จารีตประเพณี
    • 2.สนธิสัญญา
  • จารีตประเพณี คือ ความยินยอมของรัฐที่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร จนกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่มีความผูกพันไม่จำเป็นต้องมีลายลักษณ์อักษร
  • สนธิ สัญญา คือ การที่ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างกันของรัฐอย่างเปิดเผย มีการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้มีการปฏิบัติเฉพาะคู่สัญญา
  • จึงอาจกล่าวได้ว่า
  • กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นกระบวนการที่นานาชาติร่วมมือกันที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ทุกคนทั่วโลก โดยยึดถือตามหลักเกณฑ์ที่ได้ตกลงกันไว้ในกฏหมาย
  • จากกฎหมายระหว่างประเทศก็ได้มีการพัฒนาเป็นการจัดตั้งองค์กรร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อจัดการปัญหาต่างๆเช่นปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และเพื่อรักษาสันติภาพบนโลกใบนี้  เช่น องค์การสหประชาชาติ
  • สหประชาชาติ เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อก่อให้เกิดร่วมมือกันของกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก สหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ ในการยับยั้งสงครามระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท สหประชาชาติมีองค์การย่อย ๆ จำนวนมากเพื่อดำเนินการตามภารกิจ
วัตถุประสงค์หลัก 4 ประการของสหประชาชาติ ได้แก่
    • 1.รักษาสันติภาพทั่วโลก
    • 2.พัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร ในหมู่ประเทศ
    • 3.ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือ คนจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ขจัดโลกภัยไข้เจ็บและความไม่รู้หนังสือในโลก และส่งเสริมให้เกิดความเคารพในสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน
    • 4.เป็นศูนย์สำหรับช่วยเหลือ ประเทศต่างๆ ให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้
  • สหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศครอบคลุมรัฐอธิปไตยเกือบทุกรัฐบนโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก  นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลกยูเนสโกและยูนิเซฟและ
ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก


สมัชชา ใหญ่แห่งสหประชาชาติ
  • สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติคือการประชุมของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติจะประชุมสมัชชาใหญ่ซึ่งอาจเปรียบได้กับรัฐสภาของ โลกเป็นประจำทุกปี โดยมีประธานสมัชชาที่ได้รับการเลือกมาจากประเทศสมาชิก การประชุมจะกินเวลานานสองสัปดาห์ ซึ่งทุกประเทศสามารถเสนอญัตติแก่ที่ประชุมได้
คณะ มนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
  • คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ดำรงรักษาสันติภาพและความ ปลอดภัยแก่ประเทศสมาชิก ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของสหประชาชาติสามารถเพียงให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของประเทศสมาชิก แต่คณะมนตรีความมั่นคงมีอำนาจที่จะผูกมัดประเทศสมาชิกให้ปฏิบัติตามการ ตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตามข้อตกลงในกฎบัตรข้อที่ 25 โดยผลการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคง เรียกว่า มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ
  • สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติมีเลขาธิการแห่งสหประชาชาติเป็นประธาน ได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่พลเรือนทั่วโลก มีหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้แก่การประชุม และยังมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติและส่วนอื่น ๆ ขององค์การ กฎบัตรสหประชาชาติได้ระบุถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกว่าต้องมี "มาตรฐานประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด มีความสามารถและความซื่อสัตย์" และความสำคัญในการคัดเลือกคนที่มาจากพื้นฐานภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
  • คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติมีส่วนช่วยเหลือสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในการให้ความสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการพัฒนา คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 54 ประเทศ ซึ่งได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติวาระละสามปี ส่วนประธานมีวาระหนึ่งปีและได้รับเลือกจากประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลางเพื่อ เป็นผู้แทนของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
  • ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินปัญหาของสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 จากผลของกฎบัตรสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเริ่มทำหน้าที่ในปีค.ศ. 1946 แทนศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ อนุสาวรีย์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งคล้ายกับศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศก่อนหน้า คือ ข้อความรัฐธรรมนูญที่วางระเบียบของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
  • ศาลมีอำนาจพิจารณาในเรื่องต่างๆดังนี้
    • ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ
    • ปัญหาเกี่ยวกับการ ตีความสนธิสัญญา
    • ปัญหาข้อเท็จจริง ใดๆที่หากเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
    • ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและขอบเขตของค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ ในกรรีละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
  • ดังจะเห็นได้ว่าองค์การสหประชาชาติจะมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่างๆที่เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของนานาชาติเพื่อระงับข้อพิพาทต่างๆของแต่ละประเทศ รวมทั้งสร้างความสงบสุขให้แก่โลกมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น