วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ชุดที่ 4 สังคมมนุษย์

สังคมมนุษย์
ความหมายของสังคม
            สังคม  คือ กลุ่มคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป  อาศัยอยู่ร่วมกันในดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่ง  เพื่อช่วยเหลือพึ่งพากันและตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งกันและกัน  กลุ่มคนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
สาเหตุที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม
            มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็น “สัตว์สังคม” เพราะมนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม  และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน  สรุปสาเหตุที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ดังนี้
            1. ความจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกัน  มนุษย์มีช่วงเวลาเป็นวัยทารกและวัยเด็กซึ่งต้องพึ่งพาและเป็นภาระของพ่อแม่ยาวนานกว่าสัตว์อื่น  ๆ จึงทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ต่อกันเป็นระบบครอบครัว  และขยายความสัมพันธ์ต่อเพื่อนบ้าน  เพื่อนที่ทำงาน  และเป็นสังคมชุมชนในที่สุด
            2. ความจำเป็นต้องแบ่งงานกันทำตามความถนัด  เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต  เนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญาสูงกว่าสัตว์อื่น ๆ จึงพยายามควบคุมธรรมชาติและนำธรรมชาติมาใช้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตของตน  เช่น การผลิตอาหาร  การสร้างที่อยู่อาศัย  ฯลฯ  แต่มนุษย์ไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ทั้งหมด  จึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคม  และแบ่งงานกันทำตามความถนัด
            3. ความจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองความต้องการทางชีวภาพ  และความต้องการทางด้านสังคมจิตวิทยา   หมายถึง  ความต้องการในสิ่งจำเป็นแก่การมีชีวิตอยู่รอดของมนุษย์  เช่น ตองการกินอาหาร ได้หายใจอากาศบริสุทธิ์  มีบ้านที่หลับนอนปลอดภัย ฯลฯ  ต้องการได้รับความรัก  ความอบอุ่น  ความเข้าใจ  และได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ เป็นต้น  ความต้องการเหล่านี้ ทำให้มนุษย์ไม่อาจอยูโดเดี่ยวตามลำพังได้    จึงต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมับความรัก  ความอบอุ่น  ความเข้าใจ  และได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ เป็นต้น  ความต้องการเหล่านี้ ทำให้มนุษย์าสัตว์อื่น
            4. ความจำเป็นในการถ่ายทอดวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นหลัง  มนุษย์ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมความเจริญในรูปแบบต่าง ๆ ต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน  เพื่อความสุข  ความสบาย และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการดำเนินชีวิต  ได้แก่  สิ่งประดิษฐ์  ประเพณี  ศาสนา  แลศิลปะแขนงต่าง ๆ รวมทั้งการจัดระเบียบทางสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองการปกครอง  เป็นต้น
            ดังนั้น  เพื่อมิให้วัฒนธรรมดังกล่าวต้องสูญหายลบเลือนไป  มนุษย์จึงจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมมาให้แก่คนรุ่นหลัง  และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นสืบไป
องค์ประกอบของสังคม
            ตามหลักวิชาสังคมวิทยา “สังคม” หรือ “สังคมมนุษย์” ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ  ดังนี้
            1. ประชากร หรือสมาชิกของสังคม  สิ่งทีเรียกว่า “สังคม”  จะต้องมีจำนวนประชากรอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป  สังคมที่มีขนาดเล็กที่สุด  คือ ครอบครัว  อาจจะมีสมาชิกเพียง 2 คนเท่านั้น
            2. พื้นที่ หรืออาณาเขต ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว  หมู่บ้าน  ชุมชน ฯลฯ ในบริเวณพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
            3. ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม  สมาชิกในสังคมจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน มีการพบปะพูดคุยกัน  และทำกิจกรรมต่าง     ๆ ร่วมกัน
            4. การจัดระเบียบทางสังคม  สังคมจะต้องมีการวางระเบียบกฎเกณฑ์  เพื่อให้สมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และเป็นระเบียบเรียบร้อย  สิ่งที่ช่วยจัดระเบียบสังคม  คือ บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ได้แก่กฎหมายบ้านเมือง  และจารีตประเพณีต่าง ๆ เป็นต้น
โครงสร้างทางสังคม
ความหมาย  “โครงสร้างทางสังคม”
            โครงสร้างทางสังคม (Social Structure)  หมายถึง ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม  โดยมี “บรรทัดฐานทางสังคม” เป็นสิ่งเชื่อมโยงผูกพันระหว่างกัน   หรือหมายถึง ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันเข้าเป็นระบบความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์  เป็นลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันของกลุ่มต่างๆ ในสังคมมนุษย์
ลักษณะของโครงสร้างทางสังคม
            โครงสร้างทางสังคม มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
            1. มีการรวมกลุ่มของคนในสังคม  มีการติดต่อสัมพันธ์กัน  เรียกว่า “กลุ่มคน” เช่น กลุ่มคนในสำนักงานบริษัทหรือสถานที่ราชการ  กลุ่มคนในสถานศึกษา ฯลฯ
            2. มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนเป็นแนวทางปฏิบัติ  เช่น กฎหมาย  กฎข้อบังคับของสถานศึกษา  ฯลฯ  เพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข
            3. มีจุดมุ่งหมายในการติดต่อสัมพันธ์กันหรือการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน  เช่น จุดมุ่งหมายของสังคมไทย คือ พัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าสู่ความทันสมัยบนพื้นฐานของความเป็นไทย (ให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมและประเพณีไทยเช่นเดิม)
            4. มีการเปลี่ยนแปลงได้  ลักษณะทั้ง 3 ประการข้างต้นสามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ เช่น จำนวนประชากรในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น  มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่าง ๆ ให้เหมาะสม  เป็นต้น
องค์ประกอบของโครงสร้างทางสังคม
            โครงสร้างทางสังคม  มีองค์ประกอบสำคัญ  2 ประการ ดังนี้
            1. กลุ่มสังคม (Social Groups) หมายถึงกลุ่มบุคคลที่สมาชิกในกลุ่มมีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างมีระเบียบแบบแผน  เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  มีสัญลักษณ์  และมีความสนใจคล้าย  ๆ กัน จึงทำให้กลุ่มมีลักษณะแตกต่างกับกลุ่มอื่น ๆ
            ตัวอย่างกลุ่มสังคม เชน ข้าราชการในกระทรวงแห่งหนึ่ง   สมาชิกสมาคมนิสิตเก่าของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  สมาชิกมูลนิธิบำเพ็ญกุศลแห่งหนึ่ง  และสมาชิกพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง  เป็นต้น
ลักษณะที่สำคัญของกลุ่มสังคม  มีดังนี้
                    (1) สมาชิกในกลุ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน  หรือมีการกระทำระหว่างกันทางสังคม (Social Interaction) หมายถึง สมาชิกมีการปฏิบัติต่อกัน  เช่น พูดคุย  ทำงาน่วมกัน  ฯลฯ
                    (2) สมาชิกในกลุ่มมีตำแหน่ง  หน้าที่  และบทบาทแตกต่างกัน  โดยมีแบบแผนพฤติกรรมของกลุ่ม  ที่เรียกว่า  วัฒนธรรมย่อย
                    (3) สมาชิกในกลุ่มมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน  มีความรักผูกพันซึ่งกันแลกัน
                    (4) สมาชิกในกลุ่มมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน โดยกลุ่มสังคมนั้นจะต้องตอบสนองความต้องการของสมาชิกในกลุ่มได้  เช่น ชมรมของผู้ปฎิบัติธรรมวัดสวนแก้ว  สมาชิกมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาความสุขสงบในชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา  ชมรมแห่งนี้จะต้องตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้
            2. สถาบันสังคม (Social Institutions)  หมายถึง รูปแบบพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เพื่อ สนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน   หรือหมายถึง ระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ทางสังคม ที่เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติต่อกันและเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้น ๆ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามวัฒนธรรมของสังคมด้วย
            ตัวอย่าง เช่น สถาบันครอบครัว  มีแบบแผนในการปฏิบัติที่สังคมยอมรับ คือ บิดามารดา ต้องเลี่ยงดูและอบรมสั่งสอนบุตรของตนด้วยความรัก เป็นต้น
            ลักษะสำคัญของสถาบัน  มีดังนี้
            (1) สถาบันสังคมเป็นนามธรรม  ไม่ใช่วัตถุ  ตัวบุคคล  หรือกลุ่มคน  แต่เป็นแบบแผนพฤติกรรมที่กำหนดให้สมาชิกทุกคนจะต้องปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างเดียวกัน  เช่น สถาบันการศึกษา กำหนดแบบแผนพฤติกรรมของครู  อาจารย์ และนักเรียนไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร  เป็นต้น
            (2) สถาบันสังคมเกิดจากการยอมรับร่วมกันของสมาชิกในสังคม  จึงกำหนดแบบแผนพฤติกรรมไว้อย่างชัดเจนและแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก  เช่น สถาบันการเมืองการปกครองของไทย  กำหนดรูปแบบที่สำคัญของรัฐไว้ว่า “เป็นราชอาณาจักรเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้”
            (3) สถาบันสังคมเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ของสมาชิกในสังคม เช่น สถาบันการศึกษา สนองความต้องการของสมาชิกในด้านการให้บริการจัดการศึกษา  เป็นต้น
            (4) สถาบันสังคมเกิดจากการเชื่อมโยงบรรทัดฐานต่าง ๆ ทางสังคม          ได้แก่  วิถีประชา  จารีตและกฎหมาย  เพื่อให้สมาชิกปฏิบัติตามแบบแผนที่กำหนด  ไม่ฝ่าฝืน  และบรรลุจุดมุ่งหมายของสถาบัน
สถาบันสังคม
องค์ประกอบของสถาบันสังคม
สถาบันสังคม (Social  Institution) มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ  ดังนี้
            กลุ่มสังคม  สถาบันสังคมจะต้องมีกลุ่มสังคมต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น สถาบันเศรษฐกิจจะต้องมีกลุ่มสังคมของผู้ผลิต  ผู้ค้าปลีก  และผู้ประกอบกิจการธนาคาร  เป็นต้น
            หน้าที่  สถาบันสังคมจะต้องมีหน้าที่  หรือจุดมุ่งหมายในการสนองความต้องการของสังคมด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น สถาบันศาสนา ทำหน้าที่เป็นที่พึงทางใจของสมาชิก
            แบบแผนพฤติกรรมที่สมาชิกจะต้องปฏิบัติต่อกัน  หมายถึง  บรรทัดฐานทางสังคม  ได้แก่ วิถีประชา  จารีต  และกฎหมาย  ซึ่งสถาบันสังคมแต่ละแห่งย่อมมีบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน
            สัญลักษณ์   และค่านิยม  เป็นสิ่งที่ทำให้สมาชิกเกิดความรักความศรัทธาต่อสถาบันสังคมแห่งนั้น  ดังตัวอย่างของสัญลักษณ์และค่านิยมของสถาบันการศึกษา (โรงเรียน) มีดังนี้
-                   สัญลักษณ์  คือ สี  อักษรย่อ  และตราเครื่องหมายของโรงเรียนแห่งนั้น
-                   ค่านิยม  ให้พิจารณาจากคำขวัญ  วิสัยทัศน์  และพันธะกิจของโรงเรียนแห่งนั้น
สถาบันสังคมที่สำคัญ
            สถาบันสังคมที่เป็นพื้นฐานของสังคมมนุษย์  มี 5 สถาบัน  ดังนี้
1.             สถาบันครอบครัว
2.             สถาบันการศึกษา
3.             สถาบันศาสนา
4.             สถาบันเศรษฐกิจ
5.             สถาบันการเมืองการปกครอง
สถาบันครอบครัว
            ความหมาย  สถาบันครอบครัว หมายถึง  แบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและเครือญาติ  เช่น  การสมรส  การอบรมเลี่ยงดูบุตร  การหย่าร้าง  ฯลฯ
            สถาบันครอบครัว  เป็นสถาบันสังคมพื้นฐานอันดับแรกของมนุษย์  มีองค์ประกอบ ดังนี้
            กลุ่มสังคม  ได้แก่  ครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกต่าง ๆ  เช่น  พ่อ  แม่  ลูก  ปู่  ย่า  ฯลฯ
            หน้าที่  ได้แก่  ผลิตสมาชิกใหม่ให้สังคม  อบรมเลี้ยงดูบุตร  ถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีงามให้แก่สมาชิกและสนองความต้องการทางจิตใจ  ให้ความรักความอบอุ่นและดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน  เป็นต้น
            แบบแผนพฤติกรรมของสมาชิก  เป็นบรรทัดฐานทางสังคม  ได้แก่  ประเพณีการหมั้น  การสมรส   การอบรมเลี้ยงดูบุตร  และการปฏิบัติต่อญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ  ซึ่งแต่ละครอบครัวย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน
            สัญลักษณ์และค่านิยม  สัญลักษณ์ของสถาบันครอบครัว  ได้แก่  บ้าน  แหวนสมรส  เปล
สถาบันการศึกษา
            ความหมาย   สถาบันการศึกษา หมายถึง  แบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการขัดเกลาและการถ่ายทอดความรู้  การฝึกทักษะวิชาชีพ  และการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมไปยังสมาชิกของสังคม
            กลุ่มสังคม  ได้แก่  กระทรวงศึกษาธิการ  มหาวิทยาลัย  โรงเรียน  ฯลฯ  ซึ่งประกอบด้วย  สมาชิกในสถานภาพหรือตำแหน่งต่าง ๆ เช่น  ครู  อาจารย์  นักการภารโรง  และ นักเรียน เป็นต้น
            หน้าที่  ได้แก่  ถ่ายทอดความรู้  ทักษะวิชาชีพ  และวัฒนธรรมให้แก่สมาชิก  ขัดเกลาด้านบุคลิกภาพ  อุปนิสัยใจคอ  และความประพฤติที่ดีให้แก้สมาชิก ฯลฯ
            แบบแผนพฤติกรรมสมาชิก  ได้แก่  การจัดหลักสูตรและแผนการเรียนรู้  การกำหนดแบบแผนความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา การกำหนดวินัยของข้าราชการในสถานศึกษา  เป็นต้น
            สัญลักษณ์และค่านิยม  สัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษา  ได้แก่  เครื่องหมายตราโรงเรียน     ตัวอัษรย่อชื่อโรงเรียน ฯลฯ ส่วนค่านิยมของโรงเรียน  แต่ละแห่งอาจจะแตกต่างกัน  เช่น  บางแห่งเน้นจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่เรียนดีเพื่อให้สอบเข้ามหาวิทาลัยได้มาก ๆ  บางแห่งเน้นที่การศึกษาเพื่อความเสมอภาคให้ผู้เรียนได้เรียนตามระดับความสามารถ
สถาบันศาสนา
            ความหมาย   สถาบันศาสนา เป็นสถาบันสังคมที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมอย่างแน่นแฟ้น  มีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคม  นักบวช  คำสอน  และความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์  รวมทั้งขนบธรรมเนียม  ประเพณี  และวัฒนธรรมของสังคม
            กลุ่มสังคม  ได้แก่  คณะสงฆ์ในวัด  กลุ่มอุบาสกอุบาสิกา   และกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม
            หน้าที่   ได้แก่  สนองความต้องการทางด้านจิตใจแก่สมาชิก  ให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นปกติสุข  สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ  ควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม  เช่น  ประพฤติดี  ไม่ทำผิดศีลธรรมและกฎหมาย  ตลอดจนสร้างสรรค์และถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีงามแก่สังคม  เช่น  ภาพจิตกรรมฝาผนังและโบราณสถาน  โบราณวัตถุทางศาสนา  เป็นต้น
            แบบแผนพฤติกรรมของสมาชิก  แต่ละศาสนาย่อมมีแบบแผนให้สมาชิกปฏิบัติไม่เหมือนกัน สำหรับพระพุทธศาสนามีประเพณีทำบุญตักบาตร  อุปสมบท  การทอดผ้ากฐิน  การเวียนเทียนและการกราบพระสงฆ์แบบเบญจางคประดิษฐ์  เป็นต้น
            สัญลักษณ์และค่านิยม  แต่ละศาสนาย่อมมีสัญลักษณ์และค่านิยมแตกต่างกัน  เช่น  ศาสนาพุทธมีพระพุทธรูป  ตราเสมาธรรมจักร  และโบสถ์วิหาร  ฯลฯ  ส่วนค่านิยมจะให้ความสำคัญในเรื่องบุญบาปและกฎแห่งกรรม  เป็นต้น
สถาบันเศรษฐกิจ
            ความหมาย  สถาบันเศรษฐกิจ  เป็นสถาบันสังคมที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนพฤติกรรมในการผลิตการกระจาย และการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ  เป็นสถาบันสังคมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
            กลุ่มสังคม  ได้แก่  กลุ่มบุคคลในบริษัท  โรงแรม  ธนาคารพาณิชย์  และร้านค้า
            หน้าที่  สถาบันเศรษฐกิจมีหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เช่น  สินค้าที่สนองความต้องการพื้นฐานหรือปัจจัย 4  และบริการของธนาคารพาณิชย์  การสื่อสารคมนาคม  เป็นต้น  ลอดจน  กระจายสินค้าและบริการไปสู่ผู้บริโภคหรือสมาชิกในสังคม
            แบบแผนพฤติกรรมของสมาชิก  เช่น  แบบแผนในการผลิตสินค้า  การจัดระบบการตลาด  แบบแผนในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ฯลฯ
            สัญลักษณ์และค่านิยม  สัญลักษณ์ของสถาบันเศรษฐกิจ  ได้แก่  เครื่องหมายการค้า  ตราของบริษัท  ป้ายร้านค้า  ชื่อยี่ห้อสินค้า ฯลฯ   ส่วนค่านิยมมีหลากหลายความคิด  เช่น  การซื่อสัตย์ต่อลูกค้า  การคืนกำไรให้แก่สังคม  และการดำเนินธุรกิจไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์  จึงต้องมุ่งแสวงผลกำไรเป็นหลัก  เป็นต้น
สถาบันการเมืองการปกครอง
            ความหมาย สถาบันการเมืองการปกครอง  เป็นสถาบันสังคมที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนในการดำเนินชีวิต การควบคุมกลุ่มคนต่าง ๆ ให้ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบและมีความปลอดภัย
            กลุ่มสังคม  ได้แก่  สมาชิกรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  และสมาชิกพรรคการเมือง  ฯลฯ
            หน้าที่  ได้แก่  ออกกฎหมาย  ป้องกันประเทศ  รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ  และบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น จัดการศึกษา  พัฒนาด้านสาธารณูปโภค  เป็นต้น
            แบบแผนพฤติกรรมของสมาชิก  ได้แก่  แบบแผนการประชุมรัฐสภา  แบบแผนของการเลือกตั้ง  และแบบแผนการพิพากษาพิจารณาคดีต่าง ๆ เป็นต้น
            สัญลักษณ์และค่านิยม  สัญลักษณ์ของสถาบันการเมืองการปกครอง  ได้แก่  ธงชาติ  เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ของกระทรวงต่าง ๆ ฯลฯ  ส่วนค่านิยม  ได้แก่  ค่านิยมยกย่องความซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการ  ค่านิยมยกย่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เป็นต้น
การจัดระเบียบทางสังคม
ความหมายของ “การจัดระเบียบทางสังคม”
            การจัดระเบียบทางสังคม (Social Organization) หมายถึง  วิธีการที่คนในสังคมกำหนดขึ้น  เพื่อใช้เป็นระเบียบกฎเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน  เพื่อให้สังคมมีระเบียบ
สาเหตุที่ต้องมีระเบียบทางสังคม
            1. สมาชิกในสังคมมีความแตกต่างกัน  ผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกันทั้งในด้านเพศ  อายุ  เชื้อชาติ  ศาสนา  ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม  ระดับการศึกษา  อาชีพ  วัฒนธรรม  และอุปนิสัยใจคอ  ฯลฯ   ดังนั้น เพื่อให้สมาชิกทีมีความแตกต่างกันมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข  จึงต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม
            2. สมาชิกในสังคมมีจุดมุ่งหมายและความต้องการร่วมกัน  เช่น  มีความต้องการที่อยู่อาศัย  อาชีพและรายได้ที่มั่นคง ฯลฯ  เมื่อมีความต้องการเหมือน ๆ กันแต่ทรัพยากรในสังคมมีจำกัด  ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดการแก่งแย่งทำลายล้างกัน  จึงต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม  เพื่อให้สมาชิกในสังคมมีโอกาสได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ต้องการอย่างยุติธรรม
องค์ประกอบของการจัดระเบียบทางสังคม
            การจัดระเบียบทางสังคม  ต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ  4 ประการ  ดังนี้
1.             บรรทัดฐานทางสังคม (Social  Norm)
2.             สถานภาพทางสังคม (Social  Status)
3.             บทบาททางสังคม(Social Role)
4.             การควบคุมทางสังคม(Social Control)
บรรทัดฐานทางสังคม
            ความหมาย  บรรทัดฐานทางสังคม  หรือปทัสฐาน (Social  Norm) หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์  หรือแบบแผนของพฤติกรรมทีสังคมยอมรับให้เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติของสมาชิกในสังคมในแต่ละสถานการณ์ ผู้ใดละเมิดไม่ปฏิบัติตามอาจถูกสังคมลงโทษ
            ประเภทของบรรทัดฐานทางสังคม  เป็นกลไกทางสังคมที่ควบคุมความประพฤติของผู้คน ถ้าสังคมใดขาดบรรทัดฐานจะทำให้สังคมขาดความสงบสุข  บรรทัดฐานจำแนกเป็น 3  ประเภท  ดังนี้
                1. วิถีประชา  หรือวิถีชาวบ้าน (Folkways) บางตำราอาจเรียกว่า “ธรรมเนียม” หมายถึงแบบแผนความประพฤติที่สมาชิกในสังคมปฏิบัติตามความเคยชิน  เช่น  มารยาทในการแต่งกาย  มารยาทในการรับประทานอาหาร  และมารยาททางสังคมในโอกาสต่าง ๆ
            ทั้งนี้ ไม่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างรุนแรงหรืออย่างเป็นทางการแต่อย่างใด  ผู้ละเลยไม่ปฏิบัติตามอาจจะพียงถูกผู้อื่นตำหนิติเตียน  เยาะเย้ยถากถาง  หรือนินทาว่าร้ายเท่านั้น  วิถีประชาเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามยุคสมัย  เช่น  ผู้หญิงใส่กางเกงขายาวไปทำงานได้  เป็นต้น
            2. จารีต (Mores) บางตำราเรียกว่า “กฎศีลธรรม”  หรือ “จารีตประเพณี” เป็นแบบแผนความประพฤติที่สมาชิกในสังคมจะต้องยึดถือปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเคร่งครัด  เพราะมีพื้นฐานมาจากหลักคำสอนของศาสนาหรือศีลธรรมจรรยา  และมีความผิดชอบชั่วดีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
            จารีต ถือว่าเป็นกฎของสังคมที่มีอำนาจบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง  ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะได้รับการลงโทษจากสังคมอย่างรุนแรง   เช่น ถูกรังเกียรติเหยียดหยาม  ถูกต่อตานจากผู้คนในชุมชนไม่คบค้าสมาคมด้วย  เป็นต้น
            จารีตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าวิถีประชา  ตัวอย่างของการทำผิดจารีต ได้แก่  ความสัมพันธ์ชูสาวกับหญิงที่เป็นภรรยาของผู้อื่น  สตรีอยู่ในที่ลับกับพระภิกษุสงฆ์  ฯลฯ
            3. กฎหมาย (Laws) หมายถึง กฎเกณฑ์ความประพฤติที่สร้างขึ้นโดยองค์กรทางการเมืองการปกครอง (รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี) และส่วนใหญ่มักเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
            กฎหมายเป็นแบบแผนควบคุมการประพฤติปฏิบัติของสมาชิกในสังคมอย่างรัดกุมและชัดเจน เช่น กฎหมายอาญา  กฎหมายแพ่ง ฯลฯ  โดยกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย  เช่น  ปรับ  จำคุกและประหารชีวิต
            โดยทั่วไปกฎหมายจะมีแนวทางความประพฤติที่สอดคล้องกับจารีต  เพราะการตรากฎหมายใด ๆ ขึ้นใช้บังคับมักจะมีพื้นฐานมาจากจารีต  การทำผิดจารีตจึงมักเป็นการทำผิดกฎหมายด้วย  เช่น  ชายที่ล่อลวงเด็กหญิงอายุไม่เกิน  15 ปี ไปข่มขืนฉุดคร่าอนาจาร  หรือล่วงละเมิดทางเพศ  ย่อมเป้นความผิดทั้งจารีตประเพณีและกฎหมายอาญา
สถานภาพทางสังคม
            สถานภาพทางสังคม (social  Status) หมายถึง  ตำแหน่งของบุคลในสังคม ซึ่งได้มาจากการเป็นสมาชิกของสังคม  สถานภาพจะทำให้บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบาทของตำแหน่งนั้น ๆ บุคคลคนหนึ่งอาจจะมีหลายสถานภาพก็ได้  เช่น  นายทองแดง มีสถานภาพเป็นพ่อ  เป็นนักการภารโรง  และเป็นผู้ปกครองนักเรียน  จึงมีสิทธิและหน้าที่ครอบคลุมทั้ง 3 สถานภาพที่ยกตัวอย่างมานี้
            ประเภทของสถานภาพ สถานภาพทางสังคม จำแนกได้เป็น  2 ประเภท ดังนี้
                1. สถานภาพโดยกำเนิด  เป็นสถานภาพทางสังคมของบุคคลที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด  เช่น  เพศ  อายุ  สีผิว  เชื่อชาติ  สัญชาติ  และสถานภาพที่เกิดจากการเป็นสมาชิกในครอบครัว  เช่น  เป็นบิดามารดา  เป็นบุตรคนโตและเป็นปู่  ย่า  ตา  ยาย
                2. สถานภาพโดยความสามารถของบุคคล  หรือสถานภาพสัมฤทธิ์  เป็นสถานภาพที่บุคคลได้มาโดยการใช้ความรู้  ความสามารถ มีตัวอย่างดังนี้
                                - สถานภาพที่ได้จากการศึกษา  เช่น เป็นครู  อาจารย์  ผู้อำนวยการโรงเรียน  นักเรียน   นักศึกษา  คณบดี  และอธิการบดี  ฯลฯ
                                - สถานภาพที่ได้จากการประกอบอาชีพ  เช่น  เป็นพนักงาน  ผู้จัดการ  พ่อค้า  ตำรวจ  ทหาร  ผู้พิพากษา  ฯลฯ
ผลที่บุคคลได้รับจากการครอบครองสถานภาพทางสังคม
               1. ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่
                2. ทำให้ได้รับเกียรติตามสถานภาพทางสังคมของตน
                3. ทำให้เกิดการจัดช่วงชั้นทางสังคม  โดยพิจารณาจากสถานภาพทางสังคมที่บุคคลผู้นั้นดำรงอยู่
            ในปัจจุบัน  สังคมไทยแบ่งช่วงชั้นทางสังคมของคน โดยพิจารณาจากสถานภาพสัมฤทธิ์ ประเภทที่ได้มาจากการศึกษาและการประกอบอาชีพ (ฐานะทางเศรษฐกิจ) จำแนกได้เป็น  3 ช่วงชั้น ได้แก่  ชนชั้นล่าง(ระดับรากหญ้า)  ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง
บทบาททางสังคม
            บทบาททางสังคม (Social Role) หมายถึง การกระทำตามสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่ในสังคมนั้น ๆ เช่น นางอบเชยมีสถานภาพเป็นมารดาของเด็กหญิงรสริน จึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะอบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนและทำโทษบุตรสาวของตนได้ตามความเหมาะสม
            ความสำคัญของบทบาททางสังคม  เป็นกลไกช่วยจัดระเบียบทางสังคม  ดังนี้
                1. ทำให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติภายใต้กรอบของสิทธิ และหน้าที่ของตน
                2. ช่วยให้สังคมเป็นระเบียบ  เพราะสมาชิกจะเคารพในสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น
            บทบาทขัดกัน  เกิดจากบุคคลบางคนมีสถานภาพหลายสถานภาพซ้อนกันในเวลาเดียวกัน  ทำให้ บทบาท  หน้าที่  และความรับผิดชอบตามสถานภาพของตนต้องขัดแย้งกัน  ตัวอย่างเช่น  นายปรีชาเป้นครูและเป็นพ่อค้าเปิดร้านขายของชำ  ได้จำหน่ายบุหรี่และสุราให้นักเรียนและนักศึกษาเป็นปกติเสมอ ๆ
            ดังนั้น  การมีสถานภาพ 2 สถานภาพซ้อนกันขงนายปรีชา  จึงทำให้บทบาทขัดแย้งกัน  และมีผลกระทบต่อการจัดระเบียบทางสังคม  จึงควรเลือกสถานภาพที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาบทบาทขัดกัน
การควบคุมทางสังคม
            การควบคุมทางสังคม(Social Control) หมายถึง  การดำเนินการทางสังคมโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกในสังคมยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม  มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด  เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบ
                “การควบคุมทางสังคม” จึงเป็นกลไกส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบทางสังคมโดยมี 2 ลักษณะดังนี้
                1. การจูงใจให้สมาชิกปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม  โดยใช้วิธีให้รางวัล หรือการยกย่องชมเชย
                2. การลงโทษสมาชิกที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนบรรทัดฐานทางสังคม  มีวิธีดังนี้
                                - การละเมิดวิถีประชาหรือวิถีชาวบ้าน  จะถูกตำหนิ  ถูกนินทา  ถูกต่อว่า ฯลฯ
                                - การฝ่าฝืนจารีต  จะถูกต่อต้านไม่คบค้าสมาคมด้วย  ถูกขับไล่ออกจากชุมชน  ถูกประณามอย่างรุนแรง  หรือถูกรุมประชาทัณฑ์
                                - การทำผิดกฎหมาย  จะได้รับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง  เช่น  ปรับ  จำคุก ฯลฯ
การขัดเกลาทางสังคม
            การขัดเกลาทางสังคม  (Socialization)   คือ การปลูกฝังระเบียบวินัย  เพื่อให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม  และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น  กระบวนการขัดเกลาทางสังคมจะเริ่มตั้งแต่บุคคลอยู่ในวัยเด็ก  เพื่อให้ได้บุคลิกภาพตามแนวที่สังคมต้องการ  เช่น  เป็นคนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ขยันและรักการทำงาน  และมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น
            ประเภทของการขัดเกลาทางสังคม  มี 2 วิธี  ดังนี้
                1. การขัดเกลาทางสังคมโดยตรง  เป็นการอบรมขัดเกลาระหว่างผู้สอนกับผู้รับโดยตรง  เช่น พ่อแม่ว่ากล่าวตักเตือนลูก  ครูอบรมเรื่องค่านิยมที่ดีให้นักเรียนฟัง  ปู่เล่าแบบอย่างที่ดีให้หลานฟังเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง  เป็นต้น
                2. การขัดเกลาทางสังคมโดยอ้อม  เป็นการขัดเกลาทางอ้อมที่ผู้รับเกิดการเรียนรู้โดยไม่ตั้งใจ เกิดซึมซับสิ่งที่ดีงามเข้าไปในจิตใจของตนและกลายเป็นค่านิยมที่ดีและพึงประสงค์  เช่น  ได้เห็นแบบอย่างการทำความดีของตัวละคร  หรือนักร้อง นักแสดงที่ได้รับรางวัล “ลูกกตัญญู”  เป็นต้น
                ทั้งนี้สื่อที่ช่วยให้เกิดการขัดเกลาทางสังคมโดยอ้อม  ได้แก่  ข่าวและละครโทรทัศน์  ภาพยนตร์  หนังสือพิมพ์  หนังสือนวนิยาย  และรายการวิทยุ  รวมทั้งการเข้ากลุ่มกับเพื่อน ๆ ที่มีแบบอย่างพฤติกรรมที่ดีงาม
            องค์กรที่ทำหน้าที่ขัดเกลาทางสังคม  มีดังนี้
1.             ครอบครัว
2.             โรงเรียน
3.             กลุ่มเพื่อน
4.             สถาบันศาสนา
5.             สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เป็นที่ยอมรับกันว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรคงสภาพเดิมอยู่ชั่วนิรันดร กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดหรือไม่ชัด เร็วหรือช้าเท่านั้น และในที่สุดก็แตกดับสลายไป อาทิ รถยนต์เมื่อประกอบเสร็จใหม่ ๆ เราซื้อมาใช้ก็เป็นรถยนต์ใหม่ แต่พอใช้ไปสัก 2 – 3 ปี ก็กลายเป็นรถยนต์เก่า และเมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็เก่ายิ่งขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นเศษเหล็ก ต้นไม้เมื่อแรกปลูกก็เป็นต้นไม้เล็ก ๆ นาน ๆ ไปต้นไม้ก็เติบใหญ่ขึ้น มนุษย์เมื่อแรกเกิดก็พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ ครั้นมีอายุ 2 – 3 ขวบ ก็พูดได้และเดินได้ และในที่สุดก็ล้มตาย หมดสภาพแห่งความเป็นมนุษย์ จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือมิใช่วัตถุก็ตาม ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ สังคมมนุษย์ก็อยู่ภายใต้กฎดังกล่าว คือ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์สังเกตเห็นได้ ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าไม่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนมากนัก หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีขอบเขตกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของบุคคลอย่างรุนแรงก็ได้
1. ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีสังคมใดที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เพราะสภาพแวดล้อมของชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิธีการดำรงชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับสภาพใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงมูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว มักจะมีการอภิปรายกันแทบหาจุดจบไม่ได้ เพราะสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น มักจะ เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน นอกจากนี้ นักสังคมวิทยารุ่นเก่า ๆ มักจะมองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่า เป็นความเจริญก้าวหน้า (Progress) แต่ปัจจุบันนี้ หากยอมรับกันไม่ เพราะความเจริญก้าวหน้าจะมีหรือไม่นั้นอยู่ที่การตีคุณค่า และขึ้นอยู่กับทัศนะของคน
การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางสังคมวิทยา ทั้งนี้ เพราะการ เปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสมอไป ในทางสังคมวิทยานั้น ถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น และมีการปะทะสังสรรค์ซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ต่อกันของคน คือ ที่มาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ของบุคคลแตกต่างไปจากที่เคยเป็นอยู่มาแต่เดิม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ด้วยตาในลักษณะต่าง ๆ ของวิธีการดำรงชีวิตหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงในความเป็นอยู่ของมนุษย์ บางอย่างมิได้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสมอไป เช่น การแต่งกาย การลอกเลียนแบบวัฒนธรรม ของชาติอื่น การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ถือว่าเป็น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เว้นเสียแต่การเปลี่ยนแปลงนั้น มีผลสะท้อนให้เกิด การเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ของคนแตกต่างไปจากที่เคยเป็นอยู่เดิม นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าคนส่วนมากมักนึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ว่าเป็น การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางวัตถุ แต่นักสังคมวิทยาให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านวัฒนธรรมทางวัตถุและมิใช่วัตถุรวมกันทฤษฎีของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
มีนักปรัชญาได้เสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้เป็นอันมากและช้านานมาแล้ว นักสังคมวิทยาใหม่ก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จะนำทฤษฎีมาเสนอเพียง 4 ทฤษฎีเท่านั้น คือ ทฤษฎีเทคโนโลยี (Technological Theory) ทฤษฎีขบวนการสังคม (Theory of Social Movement) ทฤษฎีปัจจัย (Factor Theory) และทฤษฎีการประดิษฐ์ คิดค้น (Discovery and Invention Theory) ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับต่อไป
1) ทฤษฎีเทคโนโลยี
ทฤษฎีซึ่งอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น เกิดจากปัจจัยทางเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมาก คือ ทฤษฎีของ William F. Ogburn ทฤษฎีนี้มี ฐานคติ (Assumption) อยู่ 3 ประการ คือ ประการแรก การประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาจะเพิ่มความสลับซับซ้อนของวัฒนธรรม ชีวิตของมนุษย์ก็สับสนขึ้นตามเนื้อหาของวัฒนธรรมนั้น ประการที่ 2 การกระดิษฐ์สิ่งใหม่จะเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เทคนิคใหม่ ๆ จะทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น การวิภาคสินค้าและบริการก็กระจายออกไปในสังคมมากขึ้น ประการที่ 3 โครงสร้างทางสังคมจะมีการปรับตัวให้เป็นระบบการผลิต การวิภาค และการบริโภค การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นผลจากกระบวนการปรับตัวนี้เอง
ออกเบอร์น อธิบายว่า วัฒนธรรมนั้น มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ วัฒนธรรมทางวัตถุและไม่ใช่วัตถุ การเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดขึ้นทางวัตถุก่อน ซึ่งต่อมาทางไม่ใช่วัตถุจะต้องปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุจึงเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านไม่ใช่วัตถุ และวัฒนธรรมด้านไม่ใช่วัตถุจะพยายาม ปรับตัวให้ทันกัน ด้วยเหตุนี้ การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่อันเกิดการใช้เทคโนโลยีจึง เป็นเหตุให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป
เราจะเห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของมนุษย์เป็นผลมาจากการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมานับตั้งแต่เข็มทิศ วงล้อ เครื่องพิมพ์ เครื่องจักรกลต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือสื่อสารและสภาพสิ่งต่าง ๆ ออกเบอร์นยกตัวอย่างให้เห็นว่า การประดิษฐ์เครื่องสตาร์ทรถยนต์ที่เรียกว่า Self-Starter เพียงแต่หมุนกุญแจเครื่องยนต์ก็ติด เป็นผลให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะสามารถใช้รถยนต์ได้คล่องตัวขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่ง การสร้างลิฟต์ไฟฟ้าทำให้มีการสร้างอาคารสูงหลาย ๆ ชั้น
2) ทฤษฎีขบวนการสังคม
นักสังคมวิทยาบางกลุ่มพยายามอธิบายให้เห็นว่า ขบวนการสังคมเป็นทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายถึงสาเหตุทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งนี้ เพราะว่าขบวนการสังคมใด ๆ ก็ตามเมื่อดำเนินการได้สำเร็จ หรือแม้แต่กำลังดำเนินการโดยยังไม่สำเร็จก็ตามจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เนื่องจากขบวนการสังคมเป็นการกระทำร่วมกันของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เพื่อต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสังคม ซึ่งอาจจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ หรือระงับยับยั้งการดำเนินนโยบายบางอย่างของรัฐบาล การบำบัดความต้องการให้ได้จึงต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง
3) ทฤษฎีปัจจัย
ทฤษฎีนี้ได้เน้นถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ นั้นมีอยู่มากมายสุดแต่จะหยิบยกมาอธิบาย ที่นักสังคมวิทยายกตัวอย่างกันทั่วไป ได้แก่ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางประชากร และปัจจัยทางวัฒนธรรมและอารยธรรม
3.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยนี้เป็นความเชื่อที่เก่าแก่ของมนุษย์ที่ว่า ดวงดาวและดวงอาทิตย์มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ ทั้งในทางดีและทางเลว และสามารถกำหนดความเป็นไปแห่งชีวิตของมนุษย์ได้ ฉะนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในดวงอาทิตย์และดวงดาวเมื่อใด จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่มนุษย์ทุกครั้งด้วย ความเชื่อในเรื่องนี้ แม้จะไม่มีเหตุผลหรือค่อนข้างเป็นเรื่องเหลวไหลอยู่บ้าง แต่มนุษย์ทั่วโลกก็ยังเชื่อว่าเป็นความจริง ถ้าเราเชื่อในโหราศาสตร์เกี่ยวกับการผูกดวงชะตาอยู่ ทฤษฎีนี้ก็มีน้ำหนัก ถ้าไม่เชื่อ ทฤษฎีนี้ก็เป็นเรื่องเหลวไหล อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้ว นักสังคมวิทยาสมัยใหม่ไม่ถือว่าปัจจัยทางภูมิศาสตร์อันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดวงดาวนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างจริงจังและโดยตรงนัก
3.2 ปัจจัยทางประชากร ทฤษฎีปัจจัยได้อธิบายให้เห็นว่า ประชากรเป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านจำนวนประชากร กล่าวคือ สังคมที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายนั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น เกิดการว่างงาน มากขึ้น ขาดแคลนที่อยู่อาศัย การแย่งกันทำมาหากิน รวมทั้งขาดแคลนที่อยู่อาศัยและสถานศึกษา รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในส่วนรวมด้วย ฉะนั้น การเพิ่มของประชากรที่ไม่ได้สัดส่วนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น
3.3 ปัจจัยทางวัฒนธรรม การขยายตัวของวัฒนธรรม การเลียนแบบ และการยืมวัฒนธรรม รวมทั้งการผสมผสานทางวัฒนธรรมจะเป็นผลให้โครงสร้างของสังคมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่มองเห็นได้ชัด ได้แก่ การที่คนในชาติหนึ่งไปศึกษาวิชาการต่าง ๆ ในอีกประเทศหนึ่ง เมื่อกลับมายังประเทศแห่งตนแล้ว มักจะนำวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาตินั้นติดตัวมาด้วย เพราะขณะที่อยู่ในต่างประเทศต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ จึงเท่ากับยอมรับวัฒนธรรมของต่างชาติ ซึ่งมีผลให้นิสัยใจคอและความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนรสนิยมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางกรณีถึงกับนำวัฒนธรรมของต่างชาติมาปฏิบัติในประเทศตน ทั้งวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและมิใช่ เช่น แบบของอาคารบ้านเรือน ภาษา เครื่องแต่งกาย ความรู้สึกนึกคิด และความเชื่อต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งดังกล่าวล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางสังคมตามมา
ปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น เกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ การที่บุคคลติดต่อกันโดยตรงทางหนึ่งกับอีกทางหนึ่งติดต่อกันทางอ้อม โดยอาศัยสื่อสารมวลชน ปัจจัยทางวัฒนธรรมทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ที่มองเห็นได้ชัด เช่น คนไทยรู้จักเล่นกีฬาต่าง ๆ มากขึ้น รู้จักเล่นดนตรีโดยใช้เครื่องมือสากล รู้จักใช้เครื่องจักรกลและเครื่องมือที่ทันสมัย เป็นต้น
4) ทฤษฎีการประดิษฐ์คิดค้น
การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ โดยอาศัยความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ เป็นอันมาก โดยเฉพาะการใช้เครื่องทุ่นแรงในการผลิตสินค้า ซึ่งมีผลให้ประเทศต่าง ๆ เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ซึ่งแต่ก่อนทำการผลิตสินค้าภายในครัวเรือน ต้องกลายเป็นลูกจ้างในโรงงาน อุตสาหกรรมหรือขายแรงงานแก่ผู้อื่น การผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องจักร แม้จะได้ผลผลิตทีละมาก ๆ ในระยะเวลาอันสั้นก็ตาม แต่ก็ได้ทำลายงานศิลปะของมนุษย์ไปหมดสิ้น และทำให้โลกสูญสิ้นความสวยงามไปด้วย ประเทศที่เจริญทางอุตสาหกรรม งานศิลปะที่ใช้ฝีมือมนุษย์นับวันจะหมดไป ซึ่งเป็นผลให้จิตใจของมนุษย์แข็งกระด้าง ขาดความประณีต เพราะห่างไกลจากความสวยงามและสิ่งน่าพึงชมต่าง ๆ
แบบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสังคมมีแบบแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่ใน 3 แบบ คือ
1) การเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการ
2) การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป
3) การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ
จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงแต่ละแบบตามลำดับต่อไปโดยสังเขป
1) การเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการ (Evolution) การเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการโดยทั่วไปแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งอาจเป็นไปโดยไม่รู้ตัว การเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกหรือวิถีชีวิตของมนุษย์มากนัก และส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมซึ่งต้องใช้เวลานาน
2) การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป มีลักษณะสำคัญดังนี้ คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จำแนกออกเป็นส่วน ๆ หรือเรื่อง ๆ ไป มีขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็น ค่อยไปตามลำดับขั้นตอน มิได้เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยยกเลิกของเก่า เพียงแต่ปรับปรุงของเก่า เพราะการปฏิรูปมักจะเกิดจากความรู้สึกในคุณค่าของสังคม เพื่อใฝ่หาความยุติธรรม ความดีงาม และความสงบสุขของสังคม โดยเอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมาก
3) การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบปฏิวัตินั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงถึงรากถึงโคน หรือเปลี่ยนแปลงระบบสังคมทั้งหมด โดยยกเลิกของเก่าแล้วจัดระเบียบเป็นระบบใหม่โดยสิ้นเชิงและดำเนินอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงจึงมักจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนมากกว่าการปฏิรูป
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับความไม่เป็นระเบียบทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น โดยทั่วไปแล้วจะเปลี่ยนไปใน 2 ด้าน คือ เปลี่ยนแปลงในด้านที่ส่งเสริมสวัสดิภาพของสังคมเพื่อให้บรรลุอุดมคติหรือชีวิตที่ ดีกว่าเดิม (Progressive social charge) และการเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่ง คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประชาชนหันมารับเอาวิธีการแบบเก่าหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้คนมีความเป็นอยู่เลวกว่าเดิม นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน ผลของการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจของสมาชิกในสังคมก็ได้ โดยทั่วไปมนุษย์จึงพยายามรักษาสภาพเดิมไว้ เพราะไม่แน่ใจว่าการ เปลี่ยนแปลงจะเกิดผลดีหรือผลร้ายแก่ตน แต่มนุษย์ก็มิอาจทำได้ตลอดไป เนื่องจาก ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ต้องเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าสมาชิกของสังคมจะต้องการหรือไม่ ในทางสังคมวิทยาจึงให้ความสนใจในเรื่องนี้ และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นเรื่องปกติ สังคมใดที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ผิดปกติ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอน อาจจะทำให้เกิดการขัดแย้งหรือทำให้ความขัดแย้งหมดไปก็ได้ ก่อให้เกิดความตึงเครียดหรือลดความ ตึงเครียดก็ได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในส่วนหนึ่งของสังคม อาจส่งผลกระทบ ไปยังส่วนอื่นด้วย เช่น การที่สตรีออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้รายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น แต่เด็กอาจขาดการเลี้ยงดูที่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาเด็กเกเรตามมา
นักสังคมวิทยาได้เน้นให้เห็นถึงความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการจัดระเบียบสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและหน้าที่ของสังคม การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นกับโครงสร้างหลักของสังคม ทำให้ความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงของคนจากเด็กเป็นหนุ่ม จากหนุ่มเป็นคนแก่นั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป เพราะวัยต่าง ๆ ของคนทำให้สถานภาพและบทบาทของคนเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ความไม่เป็นระเบียบทางสังคมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังคมพิการ นั้น หมายถึง การสูญเสียความเป็นระเบียบของสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคน ไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ทำให้ความสัมพันธ์ของคนเกิดความแปรปรวน ความเป็นระเบียบและความไม่เป็นระเบียบเป็นของคู่กันเสมอ กล่าวได้ว่า ทุกสังคมจะมีสองลักษณะในขณะเดียวกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ไม่มีสังคมใดมีความเป็นระเบียบของสังคมโดยสมบูรณ์ และในขณะเดียวกันก็ไม่มีสังคมใดปราศจากเสียงซึ่งความเป็นระเบียบทางสังคมโดยสิ้นเชิง
สาเหตุที่ทำให้สังคมไม่เป็นระเบียบนั้นมีอยู่มากมาย เช่น เกิดจากการแย่งงานกันทำมากเกินไป ซึ่งทำคนขาดความผูกพันกันทางใจ เกิดจากการควบคุมความประพฤติของคนไม่ได้ผล แต่ที่นับว่าสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่สอดคล้องต้องกัน คือ ส่วนประกอบต่าง ๆ ของวัฒนธรรมขัดแย้งกัน ผสมผสานกันไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบทางสังคมและกล่าวได้ว่า ความไม่เป็นระเบียบทางสังคมก็เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เหมือนกัน

แนวทางการพัฒนาสังคม
ประเทศไทยได้มีการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่  พุทธศักราช  2504 ในระยะแรกแผนพัฒนาจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าสังคม และได้มีจุดเปลี่ยนขึ้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่  8 (พ.ศ. 2540-2544)  ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมากขึ้น  "โดยมุ่งเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา"  และใช้เศรษฐกิจเป็นตัวช่วยพัฒนาให้คนในสังคม มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   จนมาถึงฉบับที่  9 ( พ.ศ. 2545-2549 )  ก็ใช้แผนพัฒนาเป็นไปในทางเดียวกันกับฉบับที่ 8  โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุล ทั้งสองด้าน  ทั้งด้านคน  สังคม  เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และได้อัญเชิญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำทางในการพัฒนา  ซึ่งกลไกการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯฉบับนี้  ได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเพราะทำให้ความยากจนของประเทศลดลง
             ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาพปัญหาทางสังคมที่เกิดค่านิยมที่ได้รับผลกระทบ  มาจากการเลื่อนไหลของวัฒนธรรมต่างชาติเข้าสู่ประเทศ  ทั้งด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยขาดการคัดกรองและเลือกรับ ทำให้คุณธรรม  จริยธรรมลดลง  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเนื่องจากวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป  จากปัญหาที่กล่าวมาจึงนำไปสู่ยุทธศาสตร์ การพัฒนาสังคมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 10  มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสังคม ให้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันโดยมีแนวทางพัฒนา  ดังนี้
1.  การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมความรู้เกิดภูมิคุ้มกัน  โดยพัฒนาจิตใจไปพร้อมกับการเรียนรู้ ของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ตลอดชีวิต
2.  เสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกาย   ใจ  และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่
3.  เสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมที่สันติสุข  มุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  ของคนไทยบนพื้นฐานของความมีเหตุผล
4.  สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้มีรากฐานที่มั่นคงของประเทศ และให้ความสำคัญกับการบริหารชุมชนเข้มแข็ง  สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชน โดยทำแผนแม่บทชุมชนแบบมีส่วนร่วม
5.  เสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ  มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้ยั่งยืน  โดยพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในสังคม  มนุษย์มีความจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆซึ่งมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม  เพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างสงบสุขโดยสมาชิกในสังคมได้รับการขัดเกลาทางสังคมและปลูกฝังให้เข้าใจ ต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากองค์กรทางสังคม
ปัญหาสังคมไทยและแนวทางการแก้ไข
ลักษณะปัญหาสังคม  พอสรุปลักษณะปัญหาสังคมได้ดังนี้
1.เป็นสภาวการณ์ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อคนเป็นจำนวนมาก
2.เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่พิจารณาว่าเป็นสภาวการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา
3.ปัญหาสังคม จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อค่านิยมหรือการตีความในแบบแผนพฤติกรรมแตก
4.ปัญหาสังคมย่อมผันแปร “ไปตามกาลเวลา”
5.ปัญหาสังคมย่อมมีผลมาจากนโยบายของรัฐหรือจากพฤติกรรมสังคมที่มิได้คาดคิดล่วงหน้าไว้ก่อน
6.บุคคลมีชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันย่อมมีความคิดเห็นการแก้ปัญหาสังคมที่แตกต่างกันทุกคนยอมรับการแก้ปัญหาสังคมที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองมากที่สุด
1.ปัญหายาเสพติด
2. ปัญหาความยากจน
3.ปัญหาโรคเอดส์
4.ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
5. ปัญหาด้านการศึกษา
6. ปัญหาครอบครัว
7. ปัญหาความเสื่อมโทรมทางด้านจิตใจและศีลธรรม
8. สุขภาพอนามัย
9.ปัญหากลุ่มผู้ด้อยโอกาส    
สังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้คนในสังคมมีการเบี่ยงเบนความสัมพันธ์ไปจากเดิม และสถาบันทางสังคมก็ทำหน้าที่ไม่ครบสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาสังคมไทยมีอยู่มากมาย ดังนี้
1.ปัญหายาเสพติด  กำลังระบาดในหมู่เยาวชน  ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีคนติดสิ่งเสพติดมากกว่าสองล้านคน  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน    สารเสพติดที่ระบาดในประเทศไทย  เช่น  ฝิ่น  กัญชา เฮโรอีน  และแอมเฟตามีน  ซึ่งในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นด้วยมีการลักลอบนำเข้ามายังบริเวณชายแดนใต้และภาคเหนือของไทย
แนวทางการป้องกันและแก้ไข
1.1  ภาครัฐ   จะต้องส่งเสริมมาตรการป้องกันยาเสพติด เช่นการให้ความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งเสพติดกับประชาชนอย่างทั่วถึง  โดยวิธีต่างๆไม่ว่าจะเป็นสื่อทางโทรทัศน์  วิทยุ หรือผ่านหลักสูตรการสอนในสถานบันศึกษา  นอกจากนี้ภาครัฐยังควรออกมาตรการเพื่อบำบัดรักษาให้ผู้ที่ติดสิ่งเสพติดหยุดเสพให้นานที่สุดจนสามารถเลิกได้โดยเด็ดขาด  ซึ่งเป็นการลดปัญหาความเดือนร้อนและยังสมมารถการแพร่กระจายของสิ่งเสพติดได้
1. 2  ภาคเอกชน  ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดให้ลดละเลิกการใช้สิ่งเสพติด รวมทั้งจัดกิจกรรมสันทนากานต่างๆให้กับเยาวชนและผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  และห่างไกลจากยาเสพติด
1.3  ภาคประชาชน  ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการระบาดของสิ่งเสพติด  โดยเฉพาะครอบครัวจะต้องให้ความรักและความอบอุ่นกับสมาชิกในครอบครัว  โดยพ่อแม่ต้องถือว่าสิ่งนี้เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
ผลเสียของผู้ติดยาเสพติดให้โทษ
1. ผลเสียทางร่างกายและจิตใจ ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย ฟุ้งซ่าน
2. ผลเสียทางสังคม ผู้ติดยาเสพติดไม่คำนึงถึงกฎระเบียบของสังคม ชอบละเมิดกฎระเบียบ ผู้ติดยาเสพติดเป็นที่รังเกียจของสังคม เป็นผู้ทำลายชื่อเสียงวงศ์ตระกูล
3. ผลเสียทางเศรษฐกิจ ผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ติดยาเสพติดแล้วไม่ชอบทำงาน อ่อนแอ ทำให้สูญเสียแรงงาน การผลิตของประเทศลดลง รายได้ของประเทศลดลง นอกจากนั้นรัฐยังต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการรักษาพยาบาลผู้ติดยาเสพติด
2.ปัญหาเด็กและเยาวชน
 ปัญหาเด็กและเยาวชนในสังคมไทยเป็นปัญหาที่สำคัญและมีความหลากหลาย  เช่น  เด็กเร่ร่อน  ปัญหาเด็กติดยาเสพติด  มั่วสุมตามสถานที่บันเทิง  และปัญหาเหยื่อของโฆษณาทำให้เป็นผู้บริโภคนิยม เป็นต้น
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา
2.1  พ่อแม่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสมาชิกในครอบครัว  โดยให้ความรักความอบอุ่นกับสมาชิกในครอบครัว  และพร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของ บุตรหลาน
2.2  โรงเรียนและชุมชน   ต้องส่งเสริมการจัดเวลา  รวมทั้งพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนไดแสดงศักยภาพความสามารถตามความสนใจและความต้องการตามวัย
2.3  หน่วยงานของรัฐและเอกชน    ต้องมีการเร่งรัดการจัดบริการนันทนาการให้เข้าถึงเด็กและเยาวชน
2.4  สื่อมวลชน  ควรสนับสนุน  เผยแพร่กิจกรรมความดี  ความสามารถของเด็ก  เพื่อเด็กจะได้มีความภาคภูมิใจในการทำงานกิจกรรมต่างๆ
3.ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
             ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน และนับวันยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ปัญหาคอร์รัปชั่นทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณที่ต้องนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศชาติเป็นเวลามหาศาล  เช่น การทุจริตของข้าราชการบางคนในการจัดซื้อวัสดุเพื่อนำมาสร้างถนน ทำให้ได้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพแต่ราคาสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงเพราะประชาชนต้องใช้ถนนในการสัญจร  หากถนนไม่ดี ชำรุด หรือทรุดตัวก็จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
แนวทางการแก้ไขปัญหา
 3.1  ปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชนในสังคม  โดยผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีและปลูกฝังเยาวชนให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมเป็นสำคัญ
 3.2  ภาครัฐควรรณรงค์ให้คนในสังคมรังเกียจการทุจริต  เน้นความซื่อสัตย์  และความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง
 3.3  กฎหมายไทย  ควรมีบทลงโทษทางสังคมต่อผู้ที่กระทำการทุจริตอย่างเข้มงวด  เพื่อไม่ให้มีการใช่ช่องโหว่ทางกฎหมายในการช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นผิด
 3.4  คนในสังคมจะต้องให้ความร่วมมือ  และให้การสนับสนุนองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและขจัดการทุจริต  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) เป็นต้น
 3.5  สื่อมวลชนต้องให้ความสนใจในการติดตามการดำเนินงานของรัฐ   และเปิดโปงปัญหาที่เกิดขึ้นให้สังคมได้รับรู้ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าปัญหานี้เป็นอันตรายต่อสังคมมากเพียงใด
ผลเสียของการคอรัปชั่น
1. ด้านรัฐ ทำให้เกิดการผูกขาด ข้าราชการจะติดต่อซื้อขายกับพรรคพวกของตนหรือผู้ที่ให้ผลประโยชน์ต่อตนเอง เท่านั้น ทำให้สินค้าแพงกว่าความเป็นจริง วัสดุสิ่งของคุณภาพต่ำ ทำให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ในวงราชการ ใช้สถานที่ราชการหากินในทางไม่สุจริต
2. ด้านข้าราชการ ทำให้ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตหมดกำลังใจในการทำงาน ถ้าผู้บังคับบัญชาร่วมกับลูกน้องใกล้ชิดกระทำการคอรัปชั่นด้วยแล้ว ข้าราชการที่สุจริตย่อมอยู่ในวงราชการยากเพราะจะโดนกลั่นแกล้งตลอดเวลา
3. ด้านประชาชน ประชาชนเสื่อมศรัทธาข้าราชการ เพราะข้าราชการที่คอรัปชั่นจะทำให้ข้าราชการที่ซื่อสัตย์พลอยเสียชื่อเสียง เกียรติยศ ไปด้วย
4 ปัญหาความยากจน
 ความยากจน คือ สภาพการดำรงชีวิตของบุคคลที่มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ไม่สามารถจะหาสิ่งจำเป็นมาสนองความต้องการทางร่างกาย และจิตใจได้อย่างเพียงพอ จนทำให้บุคคลนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่สังคมวางไว้ ความยากจนขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละสังคม
ผลเสียของความยากจน
1. ผลเสียต่อบุคคลและครอบครัว ทำให้บุคคลสูญเสียบุคลิกภาพที่ดี ครอบครัวขาดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ไม่สามารถจะส่งบุตรหลานเล่าเรียนได้เท่าที่ควร
2. เป็นภาระแก่สังคม สังคมต้องอุ้มชู ดูแลคนยากจน ทำให้ประเทศชาติไม่สามารถจะทุ่มเทการพัฒนาได้
3. ทำให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไม่มั่นคง ประเทศที่มีคนยากจนมากก็ไม่สามารถจะพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองได้ ทำให้เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศไม่มั่นคง
5. ปัญหาโรคเอดส์
โรคเอดส์ (AIDS : Acquired Deficiency Syndrome) แพร่มาสู่ประเทศไทยจากประเทศตะวันตก ประเทศไทยได้รับอันตรายจากโรคเอดส์รุนแรงขึ้น โรคเอดส์เกิดจากสาเหตุที่สำคัญ เช่น การสำส่อนทางเพศ การใช้ เข็มฉีดยาร่วมกัน การถ่ายเทเลือดที่ขาดความระมัดระวัง ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคเอดส์ ผู้ป่วยจะต้องเสียชีวิตทุกราย ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ
ปัญหาพื้นฐานของประเทศไทยใน ๕ ประเด็นหลักในปัจจุบันเร่งด่วนแก้ไข
๑  การศึกษาโดยเฉลี่ยของคนไทยต่ำกว่ามาตรฐาน
๒  การถูกฝึกให้เชื่อฟังผู้นำ ไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้สติตนเอง
๓  การขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม
๔  ปัญหาหนึ่งที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย คือ "สังคมไทยเป็นสังคมพวกพ้อง และมีลักษณะเป็นระบบอุปถัมภ์"
๕  ปัญหาของระบบทุนนิยม
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมไทย
1รัฐบาลควรออกระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการการป้องกัน          และปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างจริงจังและแน่นอน                  
 2 วางแผนและนโยบายการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อรณรงค์และอนุรักษ์
 3 ให้การศึกษาแก่สมาชิกในสังคมเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ ให้มากขึ้น
 4 ปรับปรุงและพัฒนาสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. พัฒนาเศรษฐกิจทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการให้ดีขึ้น
6. พัฒนาสังคม สร้างค่านิยม และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
7 ให้การศึกษาแก่ประชาชนให้ทั่วถึงและสูงขึ้น การศึกษาเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้สูงขึ้น รัฐจึงควรทุ่มเทงบประมาณในการให้การศึกษาแก่ประชาชน
8  รัฐต้องจัดสวัสดิการที่ดีให้แก่ประชาชน ต้องจัดให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดีและมีงานทำทุกคนเพื่อ เป็นหลักประกันของชีวิต ควรจัดให้มีการประกันสังคมโดยทั่วถึง
9 พัฒนาเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมกับประเทศ โดยพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อส่วนรวม กระจายรายได้สู่ชนบทมากขึ้น พยายามลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยให้อยู่ในระดับเดียวกัน
10 มีการพัฒนาสังคมให้เหมาะสม โดยเฉพาะระดับครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญต้องพัฒนาก่อนสถาบันอื่น ๆ ควรสร้างค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก เช่น ให้มีความซื่อสัตย์ ขยัน ใฝ่ศึกษา ไม่เห็นแก่เงิน ชอบศึกษาค้นคว้า ฯลฯ รัฐต้อง พัฒนาบุคคลให้มีคุณธรรม จริยธรรม ดำเนินชีวิตในครรลองแห่งจริยธรรม คุณธรรม หรือตามหลัก
ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นก็มีความรุนแรงในหลายๆระดับซึ่งมีผู้กระทำผิดที่แต่งต่างกันออกไป และยังเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆได้ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยมากเรามักจะมาเน้นในเรื่องของปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการล่วงละเมิดต่างๆ ปัญหาครอบครัว ปัญหาความเครียด ฯลฯ และหาทางแก้ไขจากปลายเหตุ ส่วนปัญหาสังคมอื่นๆก็ได้แก่ ปัญหาสิทธิส่วนบุคคล ปัญหาการจำกัดสิทธิ ปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความเครียดและการกดดัน ปัญหาทางด้านการศึกษาเหล่านี้เป็นต้นซึ่งไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากับพวกปัญหาอาชญากรรม
อย่างที่เราทราบกันดีว่า การที่ปัญหาสังคมจะเกิดขึ้นนั้นมันก็เริ่มมาจากคนที่ได้รับความกดดันความกระทบกระเทือนทางจิตใจ แต่อะไรเป็นสาเหตุของความกระทบกระเทือนและความกดดันเหล่านั้นล่ะ นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่เราจะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น