วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

4.การขัดเกลาทางสังคม

4.การขัดเกลาทางสังคม

  • การขัดเกลาทางสังคม เป็นกระบวนการทางสังคมและจิตวิทยา ซึ่งมีผลทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพตามแนวทางที่สังคมต้องการเด็กที่เกิดมาจะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความเป็นคน โดยแท้จริง สามารถอยู่ร่วมกันได้และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างราบรื่น กระบวนการขัดเกลาทางสังคมจะเริ่มต้นตั้งแต่บุคคลถือกำเนิดมาในโลก ตัวแทนสำคัญที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ได้แก่ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ศาสนา ตลอดจนสื่อมวลชนต่างๆ โดยตัวแทนเหล่านี้ จะทำให้บุคคลได้ทราบคุณค่าและอุดมคติที่สังคมยึดมั่นและได้เรียนรู้บรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้อยู่ในสังคม
ประเภทของการขัดเกลาทางสังคม 
  • การขัดเกลาทางสังคมอาจจำแนกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
  •  1. การขัดเกลาทางสังคมทางตรง เป็นการอบรมขัดเกลาที่พ่อแม่ให้กับลูก เช่น การสอนสิ่งต่างๆให้กับลูก เช่น การพูดหรือมารยาทต่างๆ หรือครูอาจารย์ที่สอนความรู้แก่นักเรียนในชั้นเรียน เป็นต้น ผู้สอนและผู้รับจะมีความรู้สึกใกล้ชิดกัน เพราะเป็นการให้การอบรมกล่อมเกลากันโดยตรง
  • 2. การขัดเกลาทางสังคมโดยทางอ้อม เป็นวิธีการขัดเกลาทางสังคมที่ไม่ใช่การถ่ายทอดโดยตรงแต่จะเป็น โดยทางอ้อม เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ การฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ ตลอดจนภาพยนตร์ หรือสื่อประเภทอื่น รวมถึงประสบการณ์ชีวิตต่างๆ ที่ประสบมากับตนเองเป็นการรับเข้ามาโดยไม่เป็นทางการหรือไม่ได้ตั้งใจ มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการปรับตัวของมนุษย์ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

  • องค์กรที่ทำหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคม กระบวนการขัดเกลาทางสังคมนี้เกิดขึ้นในทุกองค์กรทางสังคมในการอบรมกล่อมเกลาให้สมาชิกใหม่ได้รับรู้และกระทำตามเกณฑ์ของสังคม ในที่นี้ได้จำแนกองค์กรที่ทำหน้าที่นี้ดังนี้
    • 1. ครอบครัว เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม โดยเริ่มตั้งแต่วัยทารก ซึ่งครอบครัวจะทำหน้าที่อบรมสั่งสอนสมาชิกให้เป็นพลเมืองดีปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนด จึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญที่สุดในการขัดเกลาทางสังคมในการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้กับสมาชิกในสังคมเพื่อให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ
    • 2. โรงเรียน ภาระหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคมที่ต่อเนื่องจากครอบครัวก็คือโรงเรียนที่สังคมจัดตั้งขึ้นเพื่อสั่งสอนความรู้ และถ่ายทอดวิทยาการรวมถึงศีลธรรมจรรยาต่างๆ ให้แก่สมาชิกในสังคม
    • 3. กลุ่มเพื่อน เมื่อสมาชิกในสังคมเติบโตขึ้นมา กลุ่มเพื่อนจะมีบทบาทที่สำคัญต่อการขัดเกลาทางสังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลเนื่องจากการลอกเลียนแบบกันภายในกลุ่ม
    • 4. สถาบันทางศาสนา ศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของสมาชิกในสังคม ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีและมีศีลธรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้นสถาบันศาสนาจึงมีความสำคัญจึงมีบทบาทสำคัญต่อสมาชิกในสังคมให้เป็นผู้ประพฤติดีอยู่ในกรอบของสังคม
    • 5. สื่อมวลชน มีบทบาทที่สำคัญ ในการเป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆ ไปสู่สมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึงทำให้สมาชิกได้รับรู้ข่าวสารและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างถูกต้องมีความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตนเองอย่างมีวิจารณญาณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น