วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ชุดที่ 5 สิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชน
ความหมายของสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชน(Human Rights) หมายถึง สิทธิของความเป็นมนุษย์ ในอดีตยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนภายหลังที่ได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติแล้ว คำว่า สิทธิมนุษยชน จึงได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในกฎบัตรสหประชาชาติได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้หลายแห่ง เช่นในอารัมภบท ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของสหประชาชาติไว้ว่า “เพื่อเป็นการยืนยันและให้การรับรองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษยชาติ"
ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
ในยุคโบราณซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทุกหนแห่งมีความไม่เสมอภาคกัน มนุษย์ถูกแบ่งเป็นชนชั้น ชนชั้นล่างจะถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับสิ่งของ สิทธิถูกสงวนไว้สำหรับขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นสูงเท่านั้น
ต่อมามนุษย์เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง มีเหตุมีผลมากขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดใหม่ๆว่า สิทธิซึ่งแต่เดิมเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะมีได้ สมควรที่จะมอบให้กับประชาชนทุกคน ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดที่ว่า
“สิทธิ คือ อำนาจหรือประโยชน์ที่บุคคลพึงมีพึงได้ มีกฎหมายรับรองไว้ และสิทธิจะได้มาตั้งแต่กำเนิดไม่มีใครสามารถพรากเอาไปได้”
                สิทธิที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ “สิทธิมนุษยชน” มีเนื้อหาเน้นหนักไปที่เรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค รวมไปถึงเสรีภาพในด้านต่างๆ เป็นต้น สิทธิมนุษยชนนั้นประกอบไปด้วย
1.สิทธิในชีวิตและร่างกาย เริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก
2.สิทธิที่จะไม่ถูกกระทำทารุณกรรม คือ ไม่ถูกกระทำอย่างโหดร้าย ผิดมนุษย์
3.สิทธิที่จะไม่ถูกกระทำเยี่ยงทาส คือ ไม่ถูกปฏิบัติเฉกเช่นสิ่งของ
4.สิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษ หรือถูกกล่าวหาด้วยกฎหมายย้อนหลัง
แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
1.1 สิทธิมนุษยชนครอบคลุมถึงสิทธิของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา นับแต่ทารกแรกเกิดและมีชีวิต เด็กและเยาวชน สตรี ผู้ยากไร้ คนเร่ร่อน ผู้ใช้แรงงาน คนพิการ คนขอทาน เกษตรกร ผู้ป่วยรวมถึงคนป่วยโรคเอดส์ และคนฝากขัง
1.2 สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของ
1.2.1 ชีวิตทุกชีวิต
1.2.2 สิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ
1.2.3 ความเสมอภาค
1.2.4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
1.2.5 การคุ้มครองตาม
1. รัฐบาล
2. ปฏิญญาสากล
3. กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ
4. มารฐานสากล
1.3 รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องศักดิ์ความเป็นมนุษย์ มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่อง สิทธิมนุษยชน อย่างแยกกันไม่ได้
2. หลักการสำคัญของ สิทธิมนุษยชน
2.1 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิเฉพะของมนุษย์แต่ละคนที่ไม่สามารถโอนให้กันและกันได้
2.2 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ และต้องพึ่งพิงกันและกัน
2.3 สิทธิมนุษยชน เป็นวิถีทางที่นำไปสู่สันติภาพและพัฒนาที่ยั่งยืน
2.4 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่บุคคลพึงมีในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
2.5 สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีความเท่าเทียมกันอย่างเป็นสากลและตลอดไป
ความเป็นมาและสาระสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการศึกษาวิชาสิทธิมนุษยชนเพราะปฏิญญานี้สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกๆเรื่องที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน
ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถือเป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคล ทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการรำลึกเสมอถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริม การเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ ด้วยมาตรการที่เจริญก้าวไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้น อย่างเป็นสากลและได้ผล ทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และในหมู่ของประชาชนแห่งดินแดน ที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิก
ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่อง สิทธิมนุษยชน สรุปได้ 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 ว่าด้วย สิทธิในชีวิตถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นพิเศษจากผู้อื่น เช่น คนพิการ คนชรา ฯลฯ ดังนั้นทุกคนควรปฏิบัติต่อบุคคลด้อยโอกาส ให้ความสำคัญ ให้โอกาสและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เพื่อให้ทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด อันได้แก่ข้อ  1, 2, 3, 4 , 5 ,12,13 , 14,15,16,25,
ประการที่ 2 ว่าด้วยสิทธิในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง คนในสังคมต้องให้โอกาสกับคนที่เคยกระทำไม่ถูกต้อง ให้โอกาสคนเหล่านี้ได้รับการอบรมแก้ไขและพัฒนาตนเองใหม่ ให้สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น อันได้แก่ข้อ 8,9,17,18  , 19, 20, 24, 26, 10, 11
ประการที่ 3 ว่าด้วยสิทธิในการยอมรับนับถือ หมายถึง การที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกันด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตด้วยความเท่าเทียมกัน อันได้แก่ข้อ 6,7,21,22 ,23 ,27,28,29
ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมี 30 ข้อ ดังนี้
ข้อ 1มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ
ข้อ 2 ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด
ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล
ข้อ 4 บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาส หรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ ห้ามความเป็นทาส และการค้าทาสทุกรูปแบบ
ข้อ 5 บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้
ข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย
ข้อ 7 ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว
ข้อ 8 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอันมีประสิทธิผลจากศาลที่มีอำนาจแห่งรัฐ ต่อการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
ข้อ 9 บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
ข้อ 10 ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียง ในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน
ข้อ 11
(1) ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามี ความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี
(2) บุคคลใดจะถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาใด อันเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นใด อันมิได้ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่ได้กระทำการนั้นไม่ได้ และจะกำหนดโทษที่หนักกว่าที่บังคับใช้ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาญานั้นไม่ได้
ข้อ 12 บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบ หลู่ดังกล่าวนั้น
ข้อ 13
(1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใด รวมทั้งประเทศของตนเอง และสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน
ข้อ 14
(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้ที่ลี้ภัยในประเทศอื่นจากการประหัตประหาร
(2) สิทธินี้จะยกขึ้นกล่าวอ้างกับกรณีที่การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นโดยแท้ จากความผิดที่มิใช่ทางการเมืองหรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้
ข้อ 15
(1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง
(2) บุคคลใดจะถูกเพิกถอนสัญชาติของตนตามอำเภอใจ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติ
ข้อ 16
(1) บรรดาชายและหญิงที่มีอายุครบบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและก่อร่างสร้างครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส
(2) การสมรสจะกระทำโดยความยินยอมอย่างอิสระและเต็มที่ของผู้ที่จะเป็นคู่สมรสเท่านั้น
(3) ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคม และย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ
ข้อ 17
(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตนเอง และโดยร่วมกับผู้อื่น
(2) บุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจไม่ได้
ข้อ 18 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อถือของตนในการสอน การปฏิบัติ การสักการบูชา และการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล
ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน
ข้อ 20
(1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ
(2) บุคคลใดไม่อาจถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งได้
ข้อ 21
(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตน โดยตรงหรือผ่านผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยอิสระ
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศตนโดยเสมอภาค
(3) เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นการออกเสียงอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และต้องเป็นการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระในทำนองเดียวกัน
ข้อ 22 ทุกคน ในฐานะสมาชิกของสังคม มีสิทธิในหลักประกันทางสังคม และย่อมมีสิทธิในการบรรลุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันจำเป็นยิ่งสำหรับศักดิ์ศรีของตน และการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ผ่านความพยายามของรัฐและความร่วมมือระหว่างประเทศ และตามการจัดการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ
ข้อ 23
(1) ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน สำหรับงานที่เท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด
(3) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการ ประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย
(4) ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้งและที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อความคุ้มครองผลประโยชน์ของตน
ข้อ 24 ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาทำงานตามสมควร และวันหยุดเป็นครั้งคราวโดยได้รับค่าจ้าง
ข้อ 25
(1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตน และของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน
(2) มารดาและเด็กย่อมมีสิทธิที่จะรับการดูแลรักษาและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
ข้อ 26
(1) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้น ฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม
(2) การศึกษาจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และการเสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษาจะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรม และมิตรภาพระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือศาสนาทั้งมวล และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติ เพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
(3) ผู้ปกครองมีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกประเภทการศึกษาที่จะให้แก่บุตรของตน
ข้อ 27
(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะ และมีส่วนในความรุดหน้า และคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางจิตใจและทางวัตถุ อันเป็นผลจาก ประดิษฐกรรมใดทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปกรรมซึ่งตนเป็นผู้สร้าง
ข้อ 28 ทุกคนย่อมมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นกรอบให้บรรลุสิทธิและอิสรภาพที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้อย่างเต็มที่
ข้อ 29
(1) ทุกคนมีหน้าที่ต่อชุมชน ซึ่งการพัฒนาบุคลิกภาพของตนโดยอิสระและเต็มที่ จะกระทำได้ก็แต่ในชุมชนเท่านั้น
(2) ในการใช้สิทธิและอิสรภาพของตน ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด เพียงเท่าที่มีกำหนดไว้ตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อวัตถุประสงค์ของการได้มาซึ่งการยอมรับและการเคารพสิทธิและอิสรภาพอัน ควรของผู้อื่น และเพื่อให้สอดรับกับความต้องการอันสมควรทางด้านศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย
(3) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ไม่อาจใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์ และหลักการของสหประชาชาติไม่ว่าในกรณีใด
ข้อ 30 ไม่มีบทใดในปฏิญญานี้ ที่อาจตีความได้ว่า เป็นการให้สิทธิใดแก่รัฐ กลุ่มคน หรือบุคคลใด ในการดำเนินกิจกรรมใด หรือกระทำการใด อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพใดที่กำหนดไว้ ณ ที่นี้
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีบทบัญญัติบังคับไว้ในส่วนที่ ๘ ที่ว่าด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในมาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๒๐๐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรา ๑๙๙ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วยให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา การคัดเลือก การถอดถอน และการกำหนด ค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
มาตรา ๒๐๐ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
(๒) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(๓) ส่งเสริมการพัฒนา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
(๔) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
(๕) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
(๖) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจาก บุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๓๔ (๑) กำหนดบังคับไว้ให้ออกกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายมารองรับ เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
(๑) มาตรา ๓ ให้คำจำกัดความว่า สิทธิมนุษยชน หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคนเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือแนวคิดอื่น ๆ เผ่าพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ เช่น คนเราทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๖)คนเราทุกคนเกิดมามีอิสสระเสรี มีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑)
รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรอง กำชับ และเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย อย่างชัดเจน ได้แก่
(๒) มาตรา ๔ บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
(๓) มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ
(๔) มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
สิทธิมนุษยชนกับทหาร
ทหารจำเป็นต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าระงับการชุมนุมระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ รับทราบรายงานของคณะกรรมการกลั่นกรองรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นชอบตามข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการ ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม คือ  ข้อ ๓ รับไปดำเนินการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการแสดงออกอย่างเสรีในหลักสูตรการศึกษาทุกแขนง โดยเฉพาะการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในหลักสูตรวิชาทางทหาร ตำรวจ และนักปกครองระดับต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิ- มนุษยชนแห่งชาติคณะหนึ่ง จำนวน ๑๑ คน มีประธานคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีก ๑๐ คน มีคุณสมบัติดังนี้
มาตรา ๖ ประธานคณะกรรมการ
๑. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
๒. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
๓. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
๔. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
๕. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๖. ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
๗. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
๘. ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
๙. ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
๑๐. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
๑๑. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
๑๒. ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบ-ปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๑๓. ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
มาตรา ๗ ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้อง
(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
เมื่อวุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยได้รับความ ยินยอมของผู้นั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการใหม่แทน เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ ?โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย (ม.๕) โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว (ม.๑๐ ว.๑)
การดำเนินงานของคณะกรรมการ
๑. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขกรณีที่มีการกระทำ หรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดี อยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว (ม.๒๒)
๒. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการโดยผู้นั้นเอง หรือผู้ทำการแทน แจ้งการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยการร้องเรียนด้วยวาจาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กระทำได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ม.๒๓)
๓. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องต่อองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อองค์การเอกชนพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลก็อาจเสนอเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป (ม.๒๔)
๔. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้เหมือนคดีทั่วไป ตามแต่สิทธิที่ถูกลิดรอน เช่น ทางร่างกายก็ฟ้องต่อศาลอาญา ทางลิขสิทธิ์ก็นำคดีสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เป็นต้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้ละเมิด เพียงแต่แจ้งให้ผู้กระทำละเมิดได้ทราบว่าสิ่งที่กระทำนั้นละเมิดต่อผู้อื่น
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน และยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเท่าไร เพศใด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาและภาษาอะไร มีสถานภาพทางกายหรือฐานะใด หากบุคคลอยู่ในพื้นที่ที่ใช้รัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตลอดจนการตรากฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายอาจมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หากถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ดำเนินคดีได้
บทบาทขององค์การระหว่างประเทศในเวทีโลกที่มีผลต่อประเทศไทย
องค์กรระหว่างประเทศในโลกนี้มีมากมาย และหลายประเภทมากแต่ก่อนอื่นที่เราจะมาดูว่าองค์กรเหล่านี้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนั้นเราต้องมาดูก่อนว่า องค์กร ระหว่างประเทศนั้นคืออะไร องค์การระหว่างประเทศ (International Organizations) หมายถึง โครงสร้างหรือสถาบันที่เป็นทางการ (formal) ถูกสร้างขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างรัฐหรือไม่ใช่รัฐก็ได้ เพื่อบรรลุจุดประสงค์และผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งองค์การระหว่างประเทศจะตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างสอง "รัฐ"ขั้นไป
หน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศก็คือ
-         จัดประชุมปรึกษาหารือระหว่าง "รัฐ"
-         วางกฎเกณฑ์ต่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง "รัฐ"
-         จัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation)
-         เสนอการใช้วิธีป้องกันร่วมกัน (Collective Defence)
-         เสนอการใช้วิธีปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peace - Keeping)
-         ส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้านในด้านต่างๆ
สหประชาชาติ (UN) หรือ องค์การสหประชาชาติ (UNO) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดร่วมมือกันของกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก สหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ ในการยับยั้งสงครามระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท สหประชาชาติมีองค์การย่อย ๆ จำนวนมากเพื่อดำเนินการตามภารกิจสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ ครอบคลุมรัฐอธิปไตยเกือบทุกรัฐบนโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก ได้แก่: สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มักเป็นที่รู้จักและปรากฏตัวต่อสาธารณชน คือ เลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้ คือ นายบัน คี มุน ชาวเกาหลีใต้ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2007 ต่อจากโคฟี อันนัน  ภารกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมความพยายามในการกำกับดูแลสิทธิมนุษยชนถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อตั้งสหประชาชาติ ความร้ายกาจจากสงครามโลกครั้งที่สองและพันธุฆาตได้นำไปสู่การเตรียมการองค์การใหม่ขึ้นเพื่อทำงานป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกในอนาคต เป้าหมายในระยะแรก คือ ความพยายามสร้างโครงร่างสำหรับพิจารณาและการลงมือช่วยเหลือตามคำร้องที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องมีการส่งเสริม "ความเคารพและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน" และจะต้องสนับสนุนต่อ "การลงมือปฏิบัติร่วมและแยกกัน" จนถึงที่สุด โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะมิได้เป็นข้อผูกมัดทางกฎหมาย ได้ถูกร่างขึ้นโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1948 โดยถือเอาเป็นมาตรฐานการวัดความสำเร็จโดยทั่วไป โดยปกติแล้ว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะรับฟังประเด็นทางมนุษยธรรมเสมอ สหประชาชาติและหน่วยงานสนับสนุนเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและเพิ่มพูนตามหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในกรณีจุดที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติในการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการจัดการเลือกตั้งปราศจากค่าใช้จ่ายและยุติธรรม การปรับปรุงระบบยุติธรรม การร่างรัฐธรรมนูญ การฝึกหัดเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน และการเปลี่ยนแปลงเอาขบวนการติดอาวุธเป็นพรรคการเมืองแทน โดยได้รับความสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงโลกให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย สหประชาชาติได้มีส่วนช่วยจัดการเลือกตั้งให้แก่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไม่นานนัก อย่างเช่น อัฟกานิสถานและติมอร์ตะวันออกในปัจจุบัน สหประชาชาติยังมีส่วนสำคัญในการรณรงค์สนับสนุนสิทธิสตรีในด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ และชีวิตทางสังคมในประเทศ นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ปลูกฝังแนวคิดสิทธิมนุษยชนผ่านทางกติการของสหประชาชาติ และให้ความสนใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านทางสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในปี ค.ศ. 2006 ได้มีการจัดตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อที่ประชุม โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ต่อจากผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมักจะได้รับคำวิจารณ์สำหรับตำแหน่งในการบีบรัฐสมาชิกที่ไม่ค่อยให้การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมีสมาชิก 47 ประเทศกระจายกันไปตามทุกทวีปในโลก โดยมีวาระสมาชิกสามปี และไม่เป็นสมาชิกสามวาระติดต่อกัน ผู้ที่เสนอตัวเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับเสียงส่วนใหญ่จากสมัชชาใหญ่ นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยังมีอำนาจอย่างเข้มงวดเหนือรัฐสมาชิก รวมไปถึงการทบทวนสิทธิมนุษยชนสากล ขณะที่รัฐสมาชิกบางประเทศที่มีข้อกังขาถึงประวัติสิทธิมนุษยชนภายในประเทศเมื่อถูกเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ก็จะเพิ่มความสนใจให้แก่ประวัติสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกให้มากขึ้นกว่าที่เคย นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ให้ความสนใจแก่ชาวพื้นเมืองจำนวนกว่า 370 ล้านคนทั่วโลก โดยในปฏิญญาสิทธิชนพื้นเมืองได้รับรองจากสมัชชาใหญ่ในปี ค.ศ. 2007 ปฏิญญาดังกล่าวสรุปเน้นถึงความเป็นเอกเทศและการรวมกันของสิทธิทางวัฒนธรรม ภาษา การศึกษา รูปพรรณ การจ้างงานและสุขภาพ ด้วยเหตุนั้น จึงมีประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังยุคอาณานิคม ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ปฏิญญาสิทธิชนพื้นเมืองมีเป้าหมายเพื่อที่จะธำรงรักษา สร้างความแข็งแกร่งและสนับสนุนการเจริญเติบโตของสถาบันชนพื้นเมือง วัฒนธรรมและประเพณี และยังมีการห้ามลำเอียงในการต่อต้านชนพื้นเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมือง ซึ่งต้องคำนึงถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคต ในความร่วมมือกับองค์กรอื่น อย่างเช่น กาชาด สหประชาชาติได้ให้การสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัยและบริการให้แก่อาณาประชาราษฎร์ที่ได้รับผลกระทบจะภัยพิบัติ สูญเสียที่อยู่อาศัยจากภัยสงคราม หรือได้รับผลกระทบจากมหันตภัยอื่น โครงการเพื่อมนุษยธรรมหลักของสหประชาชาติ คือ โครงการอาหารโลก ซึ่งได้ช่วยชีวิตมนุษย์กว่า 100 ล้านคนใน 80 ประเทศทั่วโลก) รวมไปถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ใน 116 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึง ประเทศที่มีภารกิจรักษาสันติภาพ 24 ประเทศ
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเกิดกรณีปัญหากัมพูชา ประเทศไทยได้มีบทบาทนำอย่างแข็งขันร่วมกับอาเซียนในการแก้ไขปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านโดยดำเนินการผ่านเวทีสหประชาชาติ ต่อมาหลังจากสหประชาชาติได้ปรับบทบาทให้สอดคล้องกับบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากการยุติของสงครามเย็น ประเทศไทยได้เพิ่มบทบาทในด้านการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าสหประชาชาติเป็นเสมือนตัวแทนประชาคมโลก ดังนั้นการให้สหประชาชาติดูแลรักษาสันติภาพและความมั่นคงจึงเป็นประโยชน์แก่ประเทศที่มีกำลังทางทหารขนาดเล็กอย่างไทยมากกว่าที่จะให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้กำลังฝ่ายเดียวเพื่อยุติข้อขัดแย้ง นอกจากนี้ ในฐานะประเทศสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติไทยได้พยายามให้การสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติเท่าที่สถานภาพและกำลังทรัพย์จะเอื้ออำนวยประเทศไทยได้มีบทบาทในด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็น ดังนี้
1.             ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพฯ บริเวณชายแดนอิรัก-คูเวต (United Nations Iraq-Kuwait Observer Mission: UNIKOM) ปีละ 5 นาย ตั้งแต่ปี 2534-ปัจจุบัน
2.             ส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังรักษาความปลอดภัยในอิรัก (United Nations Guards Contingent in Iraq :UNGCI) ในปี 2535 จำนวน 2 ผลัด ๆ ละ 50 นาย
3.             ส่งทหารหนึ่งกองพันเข้าร่วมองค์กรบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (United Nations Transitional Authority in Cambodia: UNTAC) ปี 2534-2535
4.             ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา (United Nations Mission in Bosnia-Herzegovina: UNMIBH) ปีละ 5 นาย ตั้งแต่ปี 2540 – ปัจจุบัน
5.             ส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก ปี 2542- ปัจจุบัน
6.             ส่งนายทหารสังเกตการณ์ 5 นายเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในเซียร์ราลีโอน(United Nations Mission in Siera Leon: UNAMSIL) ตั้งแต่ต้นปี 2543
ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา
สถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในประเทศไทย
การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในสังคมไทยมีปรากฏการณ์ในหลายรูปแบบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษและยังคงดำรงสืบเนื่องในสังคมไทย และมีแนวโน้มขยายความรุนแรงกว้างขวางขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนต่างๆ
ข้อมูลของกรมประชาสงเคราะห์ ปี 2545 พบว่าเด็กที่อยู่ในอายุ 1–14 ปี ประมาณ 6 ล้านคนอยู่ในครอบครัวที่ยากจน เด็กถูกทอดทิ้งมีจำนวนมากกว่าแสนคน เด็กกำพร้ามีจำนวนประมาณ 350,000 คน เด็กเร่ร่อน มีประมาณ 370,000 คน เด็กพิการทางกาย หรือทางจิตกว่า 400,000 คน เด็กชนเผ่าที่เป็นกลุ่มคนชายขอบกว่า 200,000 คนและจากรายงานของสถาบันสวัสดิการและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเด็กให้ข้อมูลเรื่องภาวะยากลำบากที่เกิดกับเด็กบางประเภท ในปี 2545 ซึ่งเก็บรวบรวมจากการเก็บข้อมูลในจังหวัดพิษณุโลก น่าน เลย อุตรดิตถ์  และลำพูน จำนวน 6,417 คน จาก 68 โรงเรียน และวัด สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ( ซึ่งสภาพปัญหาที่เด็กเผชิญและประสบอยู่ สะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของเด็กและเยาชนตามหลักกฎหมายสากลของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  )
1.   เด็กถูกทอดทิ้งในประเทศไทยวันละ 8 คน โดยเฉพาะเด็กที่ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เด็กที่ถูกทอดทิ้ง 3 ใน 5 คน จะถูกอดทิ้งหลังคลอด เด็กที่ถูกทอดทิ้ง จำนวน 4 ใน 5 คน จะถูกทอดทิ้งหลังคลอด แม่ตั้งครรภ์นอกสมรส และต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง  แม่ของเด็กถูกทอดทิ้ง 1 ใน 10 คน แยกทางกับสามี ถูกข่มขืน หรือตั้งครรภ์กับคนในครอบครัว เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักจะมีพัฒนาการช้ากว่าวัย
2.   เด็กและเยาวชนที่ถูกทารุณเป็นเหยื่อของความขัดแย้งของครอบครัวและสังคม เด็ก 1 ใน 4 คนถูกทุบตีในบ้าน เท่าที่พบเด็กถูกทารุณอายุน้อยที่สุด 24 วัน ผู้กระทำในครอบครัวจะเคยพบเห็นและยอมรับการกระทำทารุณว่า ตนเองจะตบตีภรรยาหากกระทำตัวไม่ดี ส่วนเด็กที่ถูกกระทำทางเพศมีแนวโน้มอายุน้อยลง และผู้กระทำก็มีอายุน้อยลงน้อย ยังมีการละเลยไม่ช่วยเหลือเด็กจากสังคมเมื่อพบเห็นเด็กที่ถูกกระทำทารุณ
3.   เด็กเร่ร่อน มีทั้งที่เร่ร่อนตามครอบครัวมาหางานทำในเมือง หรือเร่ร่อนตามลำพัง เฉพาะในเมืองใหญ่อาจมีถึงหมื่นคน  เป็นชายมากกว่าหญิง เด็กเร่ร่อนจำนวน 1 ใน 6 จะเร่ร่อนถาวรเป็นขอทาน  กินอยู่หลับนอนตามใต้สะพาน ตลาด วัด ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ  สาเหตุที่เร่ร่อนเพราะหนีออกจากบ้านเพื่อนชวนมาเที่ยว  พลัดหลง ขอทานหรือขายของตามสี่แยก ทั้งที่ทำงานด้วยตัวเองหรือเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่
4. เด็กลูกกรรมกรมีจำนวนไม่แน่ชัด ส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษาเมื่อจบชั้นประถมไม่มีโอกาสให้เรียนต่อ เด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่ในบริเวณก่อสร้าง เมื่อโตพอ ช่วยตัวเองได้ มักถูกส่งไปอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย เด็กลูกกรรมกรก่อสร้างมักได้รับบาดเจ็บเนื่องจากตะปูตำ ไม้ตกใส่ ถูกเหล็กกับค้อนทุบมือ แก้วบาด และมักเรียนรู้เรื่องเพศตั้งแต่อายุยังน้อย
5. เด็กในชุมชนแออัดในกรุงเทพ มีเกือบ 8 หมื่นคน มักมีปัญหาสุขภาพ ขาดสารอาหาร เป็นโรคผิวหนังสกปรก มอมแมม ทารก 7 ใน 10 คน ไม่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด
6 .มีเด็กติดเอดส์จากแม่ในปัจจุบันประมาณ 6 หมื่นคน ทั้งยังจะต้องกำพร้าเนื่องจาก พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์อีกเป็น แสนคน คาดว่าถึงปี 2548 จะมีเด็กติดเชื้อเอดส์ประมาณ – แสนกว่าคน หรือประมาณปีละ 5-6 พันคน รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่นที่ติดเชื้อโดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มร่วมกันในการใช้ยาเสพติด
การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับเด็กและเยาวชน
การละเมิดสิทธิด้านเด็ก เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็ก และเยาวชนประเภทต่างๆ แตกต่างกันไปได้แก่
1 .  การถูกละเมิด และอันเนื่องจากเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ที่จะได้รับการดูแล  การรักษา  ฟื้นฟูที่พึงได้อย่างเหมาะสม  หมายถึงเด็ก ที่มีความแตกต่างจากเด็กปกติ ซึ่งยังไม่ได้รับการบริการรวมทั้งแก้ไขถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ จากรัฐ  เช่น  การศึกษา สาธารณูปโภค  รวมทั้งไม่มีหลักประกันที่กลไก  และนโยบายต่างๆ และส่งผลในทางปฏิบัติจริง  เช่น เด็กพิการด้านต่าง ๆ เด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ เด็กปัญญาเลิศ เด็กกำพร้า เด็กที่บิดามารดาต้องโทษจำคุก เด็กยากจน ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เป็นต้น เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาดูจาการที่ครอบครัวหรือผู้ดูแลโดยลำพังไม่สามารถดูแลเด็กเหล่านี้ให้สอดคล้องกับสภาพของเด็กได้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรเอกชน
2.    การละเมิด ทั้งทางร่างกาย  จิตใจ  จากการถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร เด็กอยู่ในภาวะเสี่ยง คือ เด็กที่มีสภาพแวดล้อมทางสังคมไม่ว่าที่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ที่มีความเสี่ยงจะถูกกระทำทารุณกรรม ถูกปล่อยละเลย หรือถูกทอดทิ้งในรูปแบบต่างๆซึ่งอาจจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางด้านสติปัญญา พัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ พัฒนาการด้านสังคม พัฒนาการด้านครอบครัว และอาจมีปัญหาพฤติกรรม
3. เด็กถูกละเมิดจากการถูกกระทำ คือ เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยหรือถูกทอดทิ้ง ให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายรวมทั้งถูกทำร้ายทุบตี ทารุณ ถูกทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ หรือถูกล่วงเกินทางเพศจากบุคคลในสังคมแวดล้อมหรือแม้แต่บุคคลภายนอกนอกจากนี้ปัญหาการกระทำทารุณต่อแรงงานเด็ก อาจออกมาในรูปแบบการถูกใช้แรงงานหนัก เด็กถูกนายจ้างทุบตี  ทำร้าย  และข่มขืน  เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงมาตั้งแต่แรกแล้ว
4 .  สิทธิอันพึงเข้าถึงและได้รับการบริการต่างๆ  ฟื้นฟู  และบำบัด เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม คือ เด็กที่มีพฤติกรรมผิดแผกแตกต่างไปจากเด็กปกติในวัยเดียวกันและมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืน ต่อต้าน กฎเกณฑ์ของสังคม ต่อต้านระเบียบธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันทางสังคมที่เด็กสังกัดอยู่ เช่น ครอบครัว โรงเรียน หรือ แม้แต่ชุมชน เป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเสียงมาตั้งแต่แรก
5 .   การคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมต่อเด็กกระทำความผิด คือ เด็กที่กระทำความผิดทางอาญาและเป็นเด็กที่อาจมีปัญหาพฤติกรรมถูกปล่อยปละละเลยและอาจถูกทารุณกรรมมาก่อน ทั้งนี้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงมาตั้งแต่แรกเช่นเดียวกัน
           สำหรับบทบาทและการดำเนินการเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิเด็กมีดังนี้ เช่นการพัฒนาทั้งการคุ้มครอง ป้องกัน การแก้ไขปัญหาทั้งโดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อเด็กเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาครอบครัวและการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมตลอดจนกระทั่งการรณรงค์ เผยแพร่ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการละเมิดสิทธิเด็ก อีกทั้งดำเนินการโดยใช้มาตรการทางกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม
             จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดได้จากหลายสาเหตุและการถูกละเมิดก็มีหลายด้านที่ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆเหล่านั้นขาดอิสระและสิทธิต่างๆที่ควรจะได้รับ ถ้ามองว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร และคิดว่าสถาบันครอบครัวสำคัญที่สุด ซึ่งควรพร้อมก่อนมีลูก และต้องดูแลเอาใจใส่ลูกเสมอเช่น ยกตัวอย่าง เกี่ยวเด็กมาขายดอกไม้สังเกตไหมคะว่าหน้าตาค่อนข้างจะอินเดียหน่อย และก็รู้สึกว่าสงสารและเห็นใจแต่เราช่วยแล้วไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากการขายอย่างไร ถ้าขายไม่ได้วันนี้จะถูกทำร้ายร่างกายหรือเปล่าแต่ที่สำคัญคิดว่าจิตใจของเด็กเหล่านั้นคงมีแต่ความทุกข์ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ  ไม่ได้วิ่งเล่น  ยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงก็ยิ่งเป็นอันตราย บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าพ่อแม่เขาอยู่ไหน และหันมามองตัวเองก็รู้ว่าเราโชคดีกว่าเด็กพวกนั้นขนาดไหนที่มีบ้านครอบครัว มีการกินอยู่ที่ดี มีโอกาสเรียน แล้วเด็กพวกนั้นอายุแค่นี้ แล้วอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และอยากให้ทุกหน่วยงานให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้ให้มากเพราะเด็กๆคือเยาวชนของชาติ และครอบครัวคือสถาบันที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
อุปสรรคและการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ร่วมรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และยังได้เข้าร่วมเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ แต่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควรอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรค เช่น ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หน่วยงานภาครัฐให้ความใส่ใจกับปัญหาสิทธิมนุษยชนน้อย เป็นต้น
              ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทย ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาโดยตลอด เช่น การแบ่งชนชั้น การขดขี่แรงงาน ค่านิยมที่ให้ความสำคัญเพศชายมากกว่าเพศหญิง เป็นต้น จนทำให้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ไม่สามารถคลี่คลายลงไปได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสภาพปัญหาดูเหมือนจะรุนแรงน้อยลง แต่ในแง่ของการผลักดันกฎกติกาต่างๆ ระดับนโยบายยังไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่ ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังเกิดขึ้นให้เห็นมาโดยตลอด
               เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนต่างๆ เหล่านี้ อาจจะคลี่คลายได้ในระดับหนึ่งด้วยการที่คนในสังคมต้องเรียนรู้ ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐให้มีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และสถาบันการศึกษาให้การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเยาวชนของชาติ ทั้งการเรียนรู้ในระบบ กรเรียนรู้ทั่วไป และการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะเมื่อประชาชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลได้เร็วยิ่งขึ้น
                 และที่สำคัญคือต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยบางส่วนนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ดังนั้น การศึกษาสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้องก็จะช่วยยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
ข้อตกลงระหว่างประเทศ
กฎหมายระหว่างประเทศ
กฎหมายระหว่าง ประเทศเป็นหลักกฎหมายหรือข้อตกลงร่วมกันที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ วิวัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเริ่มต้นตั้งแต่สมัยโบราณก่อนคริสต์กาล นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรวมตัวเป็นชุมชนสืบต่อมาในสมัยกลาง สมัยใหม่จนถึงสมัยปัจจุบัน โดยเริ่มจากการปฏิบัติต่อกันจนกลายเป็นจารีตประเพณี สนธิสัญญา และแนวคิดในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ
   กฎหมายระหว่างประเทศหมายถึงกฎเกณฑ์ที่ ใช้บังคับในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนอกจากรัฐแล้วยังมีองค์การระหว่างประเทศอีกด้วย อีกทั้งยังมีเนื้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองปัจเจกคนภายในรัฐต่างๆ ด้วย
จากคำ จำกัดความดังกล่าว ทำให้เข้าใจว่ากฎหมายระหว่างประเทศ ก็คือกฎหมายที่กำหนดขึ้นมา เพื่อให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการติดต่อสัมพันธ์กันเป็นไปตามกฎที่กำหนดหรืออยู่ในกรอบข้อตกลง ระหว่างกัน
     รากฐานแห่งกฎหมายระหว่างประเทศคือความยินยอมร่วมกันของบรรดาประเทศต่างๆซึ่งมาจาก2ทางคือ
1.จารีตประเพณี
2.สนธิสัญญา
จารีตประเพณี คือ ความยินยอมของรัฐที่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร จนกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่มีความผูกพันไม่จำเป็นต้องมีลายลักษณ์อักษร
สนธิ สัญญา คือ การที่ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างกันของรัฐอย่างเปิดเผย มีการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้มีการปฏิบัติเฉพาะคู่สัญญา
จึงอาจกล่าวได้ว่า
กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นกระบวนการที่นานาชาติร่วมมือกันที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ทุกคนทั่วโลก โดยยึดถือตามหลักเกณฑ์ที่ได้ตกลงกันไว้ในกฏหมาย
จากกฎหมายระหว่างประเทศก็ได้มีการพัฒนาเป็นการจัดตั้งองค์กรร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อจัดการปัญหาต่างๆเช่นปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และเพื่อรักษาสันติภาพบนโลกใบนี้  เช่น องค์การสหประชาชาติ
สหประชาชาติ เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อก่อให้เกิดร่วมมือกันของกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก สหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ ในการยับยั้งสงครามระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาท สหประชาชาติมีองค์การย่อย ๆ จำนวนมากเพื่อดำเนินการตามภารกิจ
วัตถุประสงค์หลัก 4 ประการของสหประชาชาติ ได้แก่
1.รักษาสันติภาพทั่วโลก
2.พัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร ในหมู่ประเทศ
3.ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือ คนจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ขจัดโลกภัยไข้เจ็บและความไม่รู้หนังสือในโลก และส่งเสริมให้เกิดความเคารพในสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน
4.เป็นศูนย์สำหรับช่วยเหลือ ประเทศต่างๆ ให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้
สหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศครอบคลุมรัฐอธิปไตยเกือบทุกรัฐบนโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก  นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลกยูเนสโกและยูนิเซฟและ
ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 5 องค์กรหลัก
สมัชชา ใหญ่แห่งสหประชาชาติ
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติคือการประชุมของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติจะประชุมสมัชชาใหญ่ซึ่งอาจเปรียบได้กับรัฐสภาของ โลกเป็นประจำทุกปี โดยมีประธานสมัชชาที่ได้รับการเลือกมาจากประเทศสมาชิก การประชุมจะกินเวลานานสองสัปดาห์ ซึ่งทุกประเทศสามารถเสนอญัตติแก่ที่ประชุมได้
คณะ มนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ดำรงรักษาสันติภาพและความ ปลอดภัยแก่ประเทศสมาชิก ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของสหประชาชาติสามารถเพียงให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของประเทศสมาชิก แต่คณะมนตรีความมั่นคงมีอำนาจที่จะผูกมัดประเทศสมาชิกให้ปฏิบัติตามการ ตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตามข้อตกลงในกฎบัตรข้อที่ 25 โดยผลการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคง เรียกว่า มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติมีเลขาธิการแห่งสหประชาชาติเป็นประธาน ได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่พลเรือนทั่วโลก มีหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้แก่การประชุม และยังมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติและส่วนอื่น ๆ ขององค์การ กฎบัตรสหประชาชาติได้ระบุถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกว่าต้องมี "มาตรฐานประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด มีความสามารถและความซื่อสัตย์" และความสำคัญในการคัดเลือกคนที่มาจากพื้นฐานภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติมีส่วนช่วยเหลือสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในการให้ความสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการพัฒนา คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 54 ประเทศ ซึ่งได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติวาระละสามปี ส่วนประธานมีวาระหนึ่งปีและได้รับเลือกจากประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลางเพื่อ เป็นผู้แทนของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินปัญหาของสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 จากผลของกฎบัตรสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเริ่มทำหน้าที่ในปีค.ศ. 1946 แทนศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ อนุสาวรีย์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งคล้ายกับศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศก่อนหน้า คือ ข้อความรัฐธรรมนูญที่วางระเบียบของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ศาลมีอำนาจพิจารณาในเรื่องต่างๆดังนี้
-         ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ
-         ปัญหาเกี่ยวกับการ ตีความสนธิสัญญา
-         ปัญหาข้อเท็จจริง ใดๆที่หากเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
-         ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและขอบเขตของค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ ในกรรีละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
ดังจะเห็นได้ว่าองค์การสหประชาชาติจะมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่างๆที่เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของนานาชาติเพื่อระงับข้อพิพาทต่างๆของแต่ละประเทศ รวมทั้งสร้างความสงบสุขให้แก่โลกมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น