วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ชุดที่ 6 วัฒนธรรมไทย


วัฒนธรรมไทย
ความหมายของวัฒนธรรม
           วัฒนธรรม หมายรวมถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นมา นับตั้งแต่ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา  กฎหมาย  ศิลปะ จริยธรรม ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะการจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้มนุษย์จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและจะต้องรู้จักควบคุมความประพฤติของมนุษย์ด้วยกัน วัฒนธรรม คือคำตอบที่มนุษย์ในสังคมคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ความสำคัญของวัฒนธรรม
         1.  วัฒนธรรมเป็นเครื่องกำหนดความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม และเป็นเครื่องกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม
        2. การศึกษาวัฒนธรรมจะทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ ค่านิยมของสังคม เจตคติความคิดเห็นและความเชื่อถือของบุคคลได้อย่างถูกต้อง
        3.  ทำให้มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและให้ความร่วมมือกันได้
        4.  ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม เพราะวัฒนธรรมคือกรอบหรือแบบแผนของ การดำรงชีวิต
        5.  ทำให้มีพฤติกรรมเป็นแบบเดียวกัน
        6.  ทำให้เข้ากับคนพวกอื่นในสังคมเดียวกันได้
        7.  ทำให้มนุษย์มีสภาวะที่แตกต่างจากสัตว์
ประเภทของวัฒนธรรม
         1. วัฒนธรรมทางวัตถุ (material culture) หมายถึง สิ่งของหรือวัตถุอันเกิดจากความคิดและการประดิษฐ์ขึ้นมาของมนุษย์
         2.  วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (non-material culture) หมายถึง วัฒนธรรมที่แสดงออกได้โดยทัศนะ ประเพณี ขนบธรรมเนียม การปฏิบัติสืบต่อกันมาและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มของตนว่าดีงามเหมาะสม
ลักษณะของวัฒนธรรมไทยและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย
     วัฒนธรรมไทยมาจากแหล่งที่มาที่ต่างกันและเกิดการหล่อหลอมกันขึ้น  จนเป็นวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ  ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย  ดังนี้
     1.  เป็นวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรม  คนไทยมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ  ผู้คนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ทำการเพาะปลูก  เลี้ยงสัตว์  ดังนั้นวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตส่วนใหญ่จึงมักเกี่ยวกับน้ำและการเกษตร  เช่น  ประเพณีการทำขวัญข้าว  หรือประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว  ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามชนบท  เป็นต้น

     2.  เป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือการกุศล  คนไทยนิยมทำบุญในงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว  ดังนั้นจึงสังเกตเห็นได้ว่างานพิธีมงคลหรืออวมงคลไทย  มักจะมีการทำบุญเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานพิธีเหล่านั้นด้วย
     3.  เป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือเครือญาติ  สังคมไทยมีความสัมพันธ์กันโดยยึดหลักอาวุโส  คนที่มีอายุน้อยกว่าจะให้ความเคารพผู้ที่มีอายุมากกว่าหรืออาวุโสกว่า  เพราะถือว่าผู้อาวุโสเป็นผู้ที่สูงด้วยประสบการณ์  พบเห็นเรื่องราวในชีวิตมาก่อนผู้ที่มีอายุน้อย  การเข้าหาและพูดคุยกับท่านเหล่านั้นจะทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี  แล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตได้  ดังสุภาษิตของไทยประโยคหนึ่งว่า  "เดินตามหลังผู้ใหญ่  สุนัขไม่กัด"
     4.  เป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือพิธีกรรม  มีขั้นตอนในการประกอบพิธีตามความเชื่อและมุ่งหวังความมีหน้ามีตาในการจัดงาน  เช่น  การแต่งงาน  โดยส่วนใหญ่ในสังคมไทยจะมีพิธีกรรมมากมาย  ตั้งแต่การแห่ขันหมากมาสู่ขอ  การรดน้ำสังข์อวยพรคู่บ่าวสาวและจัดงานเลี้ยงฉลองสมรสโดยเชิญญาติพี่น้อง  เพื่อนฝูงของเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาร่วมเป็นเกียรติในงาน  เป็นต้น
     5.  เป็นวัฒนธรรมที่นิยมความสนุกสนาน  กิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมไทยส่วนใหญ่จะมีการสอดแทรกความสนุกสนานไว้ด้วยเสมอ  มีการร้อง รำ ทำเพลง  จนเกิดเป็นเพลงฉ่อย  เป็นต้น  ซึ่งถือว่าเป็นการละเล่นเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยหลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว
     6.  เป็นวัฒนธรรมที่มีการผสมผสาน  วัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้รับการผสมผสานมาจากการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมของสังคมอื่น  เช่น  ศาสนาพราหมณ์เป็นที่มาของประเพณีต่าง ๆ ซึ่งได้รับการปฏิบัติสืบทอดในสังคม  เช่น  พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  การตั้งศาลพระภูมิ  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมตะวันตกที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลมากในสังคมไทย  เช่น  ด้านเทคโนโลยี  การแต่งกาย  และอาหาร  เป็นต้น

ความสำคัญของวัฒนธรรมไทย
        วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นชาติ ชาติใดที่ไร้เสียซึ่งวัฒนธรรมอันเป็นของตนเองแล้ว ชาตินั้นจะคงความเป็นชาติอยู่ไม่ได้ ชาติที่ไร้วัฒนธรรม แม้จะเป็นผู้พิชิตในการสงคราม แต่ในที่สุดก็จะเป็นผู้ถูกพิชิตในด้านวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นการถูกพิชิตอย่างราบคาบและสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะผู้ที่ถูกพิชิตในทางวัฒนธรรมนั้นจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนได้ถูกพิชิต เช่น พวกตาดที่พิชิตจีนได้ และตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นปกครองจีน แต่ในที่สุดถูกชาวจีนซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่ากลืนจนเป็นชาวจีนไปหมดสิ้น
วัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆของไทย
วัฒนธรรมภาคกลาง

  • บริเวณภาคกลางส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ที่เกิดจาก การทับถมดินตะกอนของแม่น้ำ การตั้งถิ่นฐานของ ผู้จะอยู่บริเวณน้ำ เช่น การพายเรือสินค้าจนกลาย เป็นตลาดน้ำ การเล่นเพลง หรือการอาศัยอยู่บน เรือนแพ เป็นต้น

 วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย

  • บ้านทรงไทยนับว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่ได้คิดสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และประโยชน์ใช้สอย คือ เป็นเรือนยกพื้นสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วมตัวเรือน 
  • บ้านเรือนไทย หรือเรือนไทย เรือนไทยภาคกลางจะสร้างด้วยไม้ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
    • 1.เรือนเครื่องสับ เป็นเรือนที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
    • 2.เรือนไม้ผูก เป็นเรือนที่ทำด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ เอกลักษณ์ของคนไทย คือ ยกพื้นสูง มีใต้ถุนเรือน หลังคาหน้าจั่วทรงสูง   

วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

  • หลักในอดีต คนภาคกลางนิยมใช้ใบบัวห่อข้าวนำไปรับประทานเวลา ออกไปทำงานในนา หรือการเดินทางเรียกกันว่า"ข้าวห่อใบบัว" กับ ข้าวที่นิยมมีเกือบทุกมื้ออาหาร คือ น้ำพริกประเภทต่างๆ เช่น น้ำพริก เผา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาย่าง รับประทานกับผักนานาชนิดที่หา ได้ในท้องถิ่นและนิยมปรุงรสอาหารด้วยน้ำปลา

วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเพลงพื้นบ้าน

  • เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรรม เพราะการสร้างสรรค์เพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องผ่อนคลายจาการทำ งานหนัก ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เกิดความสามัคคีในหมู่บ้านเดียวกัน

วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและพิธีกรรม

  • ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในเทศกาลออกพรรษา ตำนานของประเพณี รับบัวตำนานหนึ่งเล่าว่า ในสมัยก่อนนั้นอำเภอบางพลี เป็นแหล่งที่มีดอกบัวหลวงมาก เมื่อถึงช่วงออกพรรษา ชาวบ้านที่อยู่ใกล้อำเภอบางพลี โดยเฉพาะที่อำเภอ เมือง และอำเภอพระประแดง จะเดินทางไปเก็บดอกบัว ที่อำเภอบางพลี เพื่อนำมาประกอบพิธีทำบุญในวันออกพรรษา ต่อมาชาวบางพลีเป็นผู้เก็บดอกบัวไว้แจกให้ ชาวบ้านต่างถิ่น เพื่อเป็นการทำบุญร่วมกัน

วัฒนธรรมภาคใต้  

  • ภูมิประเทศของภาคใต้มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือมีชายฝั่งประกบเทือกเขาสูงที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งไม่มีภูมิภาค อื่นๆ ภูมิประเทศเป็นหลักจึงเป็นเทือกเขาและชายฝั่ง เป็นที่ราบจะมีอยู่เป็นแนวแคบๆ แถบชายฝั่งทะเล และสองฝั่งลำน้ำ การตั้งถิ่นฐานจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก

วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและพิธีกรรม

  • ประเพณีชักพระ เป็นประเพณีท้องถิ่นในภาคใต้ตอนกลาง เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาในพระ พุทธศาสนา และวิถีชีวิตชาวใต้ที่มีความผูกพันกับน้ำ ประเพณีชักพระหรือลากพระจัดขึ้นในช่วงออกพรรษา โดยเฉพาะในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ด้วยความเชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ จึงมีการจัดงานเพื่อแสดงความยินดี ประชาชนจึงอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับ บนบุษบกที่จัดเตรียมไว้ แล้วแห่แหนไปยังที่ประทับ ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดขบวนทางเรือ แต่บริเวณใดที่ ห่างไกลแม่น้ำก็จะจัดพิธีทางบก

วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

  • อาหารพื้นบ้านภาคใต้มีรสชาติโดด เด่นเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะสืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดิน เรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวาในอดีตทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดย เฉพาะอินเดียใต้ซึ่งเป็นต้นตำรับใน การใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก  อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป มีลักษณะผสมผสานระหว่าง อาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้ เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซียอาหาร ของภาคใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ

วัฒนธรรมภาคเหนือ

  • ภาคเหนือมีลักษณะเป็นเทือกเขา สลับกับที่ ราบ ผู้คนจะกระจายตัวอยู่เป็นกลุ่ม มีวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมเป็นของตนเอง แต่ก็มีการ ติดต่อระหว่างกัน วัฒนธรรมของภาคเหนือหรือ อาจเรียกว่า "กลุ่มวัฒนธรรมล้านนา" ซึ่งเป็น วัฒนธรรมเก่าแก่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้ง สำเนียงการพูด การขับร้อง ฟ้อนรำ หรือการจัด งานฉลองสถานที่สำคัญที่มีแต่โบราณ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ วัดเจดีย์หลวง เป็นต้น

วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ

  • ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี ชาวเหนือหรือที่เรียกกันว่า"ชาวล้านนา"มีความเชื่อในเรื่องการนับถือผีตั้งแต่เดิม โดย เชื่อว่าสถานที่แทบทุกแห่ง มีผีให้ความคุ้มครองรักษาอยู่ ความเชื่อนี้จึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เห็นได้ จากขนบธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ ของชาว เหนือ เช่น ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวเหนือ (พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย) เมื่อไปวัดฟัง ธรรมก็จะประกอบพิธีเลี้ยงผี คือ จัดหาอาหารคาว-หวานเซ่น สังเวยผีปู่ย่าด้วย

วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับประเพณีพื้นเมือง
    ประเพณีของภาคเหนือ มีลักษณะเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิต ที่เกิดจากการผสมผสาน ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อ ในเรื่องการนับถือผี ทำให้มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ และลักษณะของ ประเพณีจะแตกต่างกันไปตามฤดูกาล คือ
ช่วงแรก (เดือนเมษายนถึงมิถุนายน) เป็นช่วงการเริ่มต้นปีใหม่หรือ สงกรานต์งานประเพณี จึงเกี่ยวกับการทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคล ต้อนรับชีวิตใหม่ และอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษ มีการเลี้ยง ผีและฟ้อนผี เพื่อขอฝนช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ภายในไร่นา
ช่วงที่สอง (เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม) เป็นช่วงของการเพาะปลูก และเป็นเทศกาลเข้าพรรษา ประเพณีจึงเกี่ยวข้องกับการประกอบ อาชีพและศาสนา
ช่วงที่สาม (เดือนตุลาคมถึงเมษายน) เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวพืช ผลและเทศกาลออกพรรษา ถือว่าเป็นเวลาแห่งการพักผ่อนงาน ประเพณี จึงเป็นงานรื่นเริงและการทำบุญที่เกี่ยวศาสนา
วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับประเพณีพื้นเมือง

ประเพณีปอยน้อย
เป็นประเพณีบวช หรือการบรรพชาของชาวเหนือจะมีชื่อเรียกต่างกันในบางท้องถิ่น เช่น ปอยน้อย ปอย บวช ปอยลูกแก้ว ปอยส่างลอง นิยมจัดภายในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ซึ่งเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จแล้ว ใน พิธีบวชจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ มีการแห่งลูกแก้วหรือผู้บวชที่จะแต่งตัวอย่างสวยงาม
วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
ลักษณะเด่นชัดที่ไม่เหมือนกับภาคอื่นๆ ก็ คือ บรรดาชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ในหุบเขาเดียวกันนั้น จะต้องมี ความสัมพันธ์กันทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด จึง จะอยู่ร่วมกันได้ สิ่งนี้แลเห็นได้จากการร่วมมือกันในการทำให้มีการ ชลประทาน เหมืองฝายขึ้น นั่นคือแต่ละชุมชนจะต้องมาร่วมกันทำฝายหรือเขื่อนกั้นน้ำ และขุดลอกลำเหมืองเพื่อระบาย น้ำจากฝายที่ กั้นลำน้ำไปเลี้ยงที่นาของแต่ละชุมชน
วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับอาหาร
ชาวเหนือมีวัฒนธรรมการกินที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น นิยมรับประทาน ข้าวเหนียวเป็นหลัก จึงมีภาชนะใส่ข้าวเหนียวในขั้นตอนต่างๆ เช่น ใช้ภาชนะที่เรียกว่า "หวด" ในการนึ่งข้าวเหนียว ซึ่งมีใช้กันทั่วไปใน ภาคเหนือตอนบน คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตาก สานด้วยตอกไม้ไผ่ โดยทั่วไปใช้ไผ่เรี้ย หรือ ไผ่บง การใช้ตอกเรี้ยและตอกบงมีข้อดีข้อเสียต่างกัน หวดที่สานด้วย ไผ่เรี้ยจะมีความเหนียว ยืดหยุ่นอ่อนตัวได้ดี เวลาบีบปากหวดจะอ่อน ตัวตามไม่หัก ส่วนหวดที่สานด้วยไผ่บง มีความแข็งแรงกว่า ข้อเสีย คือหักง่าย ส่วนใหญ่นิยมใช้หวดที่ทำด้วยไผ่บงมากกว่า
อาหารของภาคเหนือประกอบด้วยข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก มีน้ำ พริกชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมี แหนม ไส้อั่ว แคบหมู และผักต่างๆ สภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้อาหารพื้นบ้านภาคเหนือแตก ต่างจากภาคอื่นๆคือ การที่อากาศหนาวเย็น เป็นเหตุผลให้อาหาร ส่วนใหญ่มีไขมันมาก อาหารภาคเหนือ ส่วนใหญ่รสชาติไม่จัด ไม่นิยมใส่น้ำตาลใน อาหาร ความหวานจะได้จากส่วนผสมของ อาหารนั้นๆ เช่น ผัก ปลา และนิยมใช้ถั่วเน่าในการปรุงอาหาร คนเหนือมีน้ำพริกรับประทานหลายชนิด อาทิ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง
วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านในของภาคเหนือ เป็นเพลงสนุกสนาน เช่น เพลง ค่าว ซึ่งเป็นบทขับร้องที่มีทำนองสูงต่ำ ไพเราะ เพลงซอ เป็นการ ขับร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน จ๊อย หรือการขับลำนำในโอกาสต่างๆ และทำฮ่ำหรือคำฮ่ำ ซึ่งเป็นการขับร้องหมู่ เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคอีสานมีพื้นที่กว้างใหญ่ พื้นที่ราบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักมีทะเลสาบรูปแอกเป็นจำนวนมาก แต่ทะเลสาบเหล่านี้จะมีน้ำเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น เมื่อถึงฤดูร้อนน้ำก็จะเหือดแห้งไปหมด เพราะดินส่วนใหญ่ เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ น้ำจึงซึมผ่านได้เร็ว ภาคนี้จึงมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ และดินขาดความอุดม สมบูรณ์ ทำให้พื้นที่บางแห่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้อย่างเต็มที่
วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน
อาหารหลักของชาวอีสาน คือ ข้าวเหนี่ยว เช่นเดียวกับชาวเหนือ สิ่งของเครื่องใช้เกี่ยวกับการทำและเก็บ อาหารจึงเหมือนกัน ส่วนอาหารจานหลักเกี่ยวกับข้าวเหนี่ยว คือ ปลาร้า ซึ่งเป็นปลาที่นำมาหมักกับเกลือ และรำหรือข้าวคั่ว นำมาปรุงเป็นอาหารประเภทต่างๆ เช่น น้ำพริกปลาร้า หรือน้ำปลาร้ามาเป็นเครื่องปรุงรสแทนน้ำ ปลาในอาหารชนิดต่างๆ เช่น ลาบ ก้อย หมก ต้ม คั่ว แกง อ่อม และอาหารเกือบทุกมื้อต้องมีแจ่วที่ใส่น้ำปลาร้าเป็น เครื่องปรุง
วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย
เอกลักษณ์ของเรือนไทย ภาคอีสานมีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประเภท คือ
1.ไม่นิยมทำหน้าต่างทางด้านหลังตัวเรือน ถ้าจะทำจะเจาะเป็นช่องเล็กๆ พอให้ยื่นศีรษะออกไปได้เท่า นั้น
2.ไม่นิยมต่อยอดป้านลมให้สูงขึ้นไป เหมือนเรือนของชาวไทยล้านนาที่เรียกว่า 'กาแล'
3.ไม่นิยมตั้งเสาเรือนบนตอม่อ เหมือนชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ชาวไทยภาค อีสานปลูกเรือนด้วยการฝังเสา
วัฒนธรรมเกี่ยวกับที่สืบเนื่องจากการทำเกษตรกรรม
ในภาคอีสานมีลักษณะทำการเกษตรแบบยังชีพ (subsistence) เป็นส่วนมา คือทำการเกษตรเพื่อที่จะนำผลิตผลมาบริโภคในครัว เรือนของตน เช่น ปลุกข้าวไว้กิน, ปลูกฝ้ายไว้ทอผ้า เลี้ยงไหมไว้ ทอผ้า เป็นต้น
วัฒนธรรมเกี่ยวกับประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อ
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่ชาวอีสานจัดขึ้นในเดือน 6 เรียกกันว่า "บุญเดือนหก" มีจุดมุ่งหมายเพื่อ เป็นงานรื่นเริงครั้งใหญ่ก่อนการเริ่มทำนา และเป็นการสร้างกำลังใจว่าการทำนาในปีนั้นจะได้ผลดี โดยมี ความเชื่อว่าเทวดาคือ "พระยาแถน" สามารถบัลดาลให้พืชผลในท้องนาอุดมสมบูรณ์ หากบูชาเซ่นสรวงให้ พระยาแถนพอใจก็จะช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล การทำนาได้ผลธัญญาหารบริบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าหมู่บ้านใคร ทำบุญบั้งไฟติดต่อกันทุก 3 ปี
พิธีกรรม
เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขน เป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่า "งานบุญหลวง" จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผี ตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรัก และงาน บุญต่างๆ เข้า มาผสมอยู่รวมๆ กัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทย
1)  การเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมเมือง ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงหรือสูญหายไป
2)  การพัฒนาของบ้านเมือง เช่น สมัยก่อนวัฒนธรรมการศึกษาจะอยู่ที่วัด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนหรือวัฒนธรรมที่นิยมให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้านได้เปลี่ยนไป เพราะผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น

3)  การรับและนิยมวัฒนธรรมต่างชาติ เช่น ปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมนักร้องและนักแสดงชาวเกาหลี ชาวญี่ปุ่น จึงสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมของชาติเหล่านี้ รวมทั้งวัยรุ่นบางคนเห็นว่าวัฒนธรรมไทยบางอย่างล้าสมัย เช่น  เครื่องดนตรีไทย  เพลงไทยเดิม  จึงละเลยที่จะเรียนรู้
4)  ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี ทำให้คนไทยเรียนรู้และนิยมวัฒนธรรมภายนอกมากขึ้น บางครั้งได้เกิดการเลียนแบบโดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อนนำไปใช้ เช่น การใส่เสื้อสายเดี่ยว เกาะอก  ซึ่งเสี่ยงต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาอีกด้วย
ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล
ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันเป็นผลมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์  รากฐานทางวัฒนธรรมและการนับถือศาสนา  ซึ่งจะสรุปให้เห็นเป็นภาพรวมได้  ดังนี้
1.  ศาสนา  ศาสนาสำคัญที่เผยแผ่เข้ามาและได้รับการยอมรับนับถือจากชนชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้แก่  พระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นศาสนาที่ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทย  พม่า  ลาว  กัมพูชา  ล้วนนับถือ  ดังนั้นประเพณี  พิธีกรรมทางศาสนา  ลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ของพม่า  ลาว  กัมพูชา  ก็จะคล้ายคลึงกับคนไทย  เช่น  การทำบุญตักบาตร  การสวดมนตร์ไหว้พระ  การให้ความเคารพพระสงฆ์  การนิยมให้บุตรหลานเข้ารับการอุปสมบท  เป็นต้น
2.  ภาษา  ประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพูด  เขียน  คล้ายคลึงกับไทยก็คือ  ลาวเพียงชาติเดียวเท่านั้น  ส่วนชาติอื่น ๆ ก็จะใช้ภาษาของตน  ไม่ว่าจะเป็นพม่า  เวียดนาม  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  โดยที่ภาษาอังกฤษและภาษาจีนจะเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อกันได้ทั่วทั้งภูมิภาค
3.  ประเพณี  พิธีกรรม  หากชาติใดที่มีรากฐานการนับถือศาสนาเป็นพระพุทธศาสนา  ประเพณี  พิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะคล้ายคลึงกับของไทย  เช่น  การทำบุญเลี้ยงพระ  การเวียนเทียนเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา  ประเพณีเข้าพรรษา  เป็นต้น  ส่วนประเพณีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา  พบว่าหากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย  เช่น  พม่า  ลาว  กัมพูชา  ก็จะมีประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับไทย  เช่น  ประเพณีสงกรานต์  ประเพณีลอยกระทง  เพียงแต่รายละเอียดของการจัดพิธีจะแตกต่างกันออกไป
ขณะเดียวกันวัฒนธรรมไทยในการแสดงความเคารพ  โดยการไหว้ของคนไทย  ชาติเหล่านี้ก็จะมีธรรมเนียมการไหว้เช่นเดียวกัน สำหรับชาติอื่น ๆ ได้แก่  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย  บรูไน  จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบอิสลาม  เวียดนามกับสิงคโปร์จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบจีน  และมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสาน  ส่วนชาติที่มีแบบแผนประเพณี  พิธีกรรมเหมือนอย่างตะวันตก  คือ  ฟิลิปปินส์
4.  อาหาร  อาหารของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยข้าว  พืชผัก  และเนื้อสัตว์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น  การปรุงอาหารโดยมากจะใช้เครื่องเทศประเภท  กะทิ  น้ำมันรสชาติจัดจ้าน  โดยอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอยู่อย่างหลากหลาย  สีสันดูน่ารับประทาน  รสชาติเผ็ดร้อน  ประเทศที่รับประทานอาหารไม่แตกต่างจากคนไทยก็ยังคงเป็นพม่า  ลาว  กัมพูชา  ขณะเดียวกันก็มีอาหารจากชาติอื่น ๆ เช่น  ยุโรป  ญี่ปุ่น  เกาหลี  เข้ามาเผยแพร่ด้วย
5.  การแต่งกาย  ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หากไม่นับชุดพื้นเมืองและชุดประจำชาติแล้ว  จะแต่งกายไม่แตกต่างกัน  กล่าวคือสังคมเมืองในปัจจุบัน  ผู้ชายสวมเสื้อ  กางเกง  ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อ  กางเกง  หรือกระโปรง  แต่ในชนบทผู้หญิงจำนวนมากก็ยังคงสวมใส่ผ้าซิ่นกันอยู่  ทั้งนี้ชุดประจำชาติของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน  ทำให้เมื่อดูแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าชุดแต่งกายนั้น ๆ เป็นของชนชาติใด
แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยนั้น  ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนไทยทุกคนมีวิธีการ ดังนี้
1.  ศึกษา  ค้นคว้า  และการวิจัยวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งที่มีการรวบรวมไว้แล้วและยังไม่ได้ศึกษา  เพื่อทราบความหมาย และความสำคัญของวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นมรดกของไทยอย่างถ่องแท้   ซึ่งความรู้ดังกล่าวถือเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต  เพื่อให้เห็นคุณค่า  ทำให้เกิดการยอมรับ  และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ต่อไป
2.  ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า  ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนและตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างเหมาะสม
3. รณรงค์ให้ประชาชนและภาคเอกชน ตระหนักในความสำคัญ ของวัฒนธรรม ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้การรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน  ประสานงานการบริการความรู้  วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
4.  ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการใช้ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
5. สร้างทัศนคติ  ความรู้  และความเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่เสริมสร้าง  ฟื้นฟู  และการดูแลรักษา สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของชาติ   และมีผลโดยตรงของความเป็นอยู่ของทุกคน
6.  จัดทำระบบเครือข่ายสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ  สามารถเลือกสรร  ตัดสินใจ  และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตทั้งนี้สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
วิธีการเลือกรับวัฒนธรรมสากล
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์แห่งโลกไร้พรมแดนที่คนทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างสะดวก  รวดเร็ว  และล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆทั่วโลกได้ง่าย  ผ่านทางโทรศัพท์  อินเทอร์เน็ต  และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติหรือวัฒนธรรมสากลเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น การเลือกรับวัฒนธรรมสากลที่แพร่เข้ามาอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นสิ่งสำคัญ  โดยพิจารณาได้จากปัจจัย ดังนี้
1.             วัฒนธรรมสากลต้องสามารถผสมผสานเข้ากับโครงสร้างทางสังคม  ค่านิยม  และขนบธรรมเนียมไทยได้
2.             วัฒนธรรมสากลต้องมีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาวัฒนธรรมไทยให้ก้าวหน้า เช่น การนำวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  และคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการผลิต  การศึกษา  และการดำเนินชีวิตในสังคม  หรือการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล  เกี่ยวกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น  และแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นไปยังศูนย์วัฒนธรรม  สถานศึกษาและผู้ที่สนใจอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว  อีกทั้งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้
3.             วัฒนธรรมสากลต้องสามารถต้องอยู่ร่วมหรือเคียงคู่ไปกับวัฒนธรรมไทยได้   เมื่อมีวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา  จำเป็นต้องเลือกสรรว่าจะสามารถผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยของเราได้หรือไม่  การคิดเช่นนี้จะทำให้สังคมไทยรอดพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมสากลได้
ในยุคปัจจุบันทุกชาติทุกสังคมต่างรื้อฟื้นและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติไว้  เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์สำคัญที่บ่งชี้ถึงความเป็นชาติของตนอย่างเหนียวแน่น  ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ  ความสมานฉันท์   และนำวัฒนธรรมไปพัฒนา    เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกสังคมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น